เปิดสรรพคุณ 8 ประโยชน์ใบกระท่อม ใช้ผิดวิธีระวังเจอโทษหนัก
เขียนเมื่อวันที่ 22/02/2022
ประโยชน์ใบกระท่อมและสรรพคุณทางยาที่ควรใช้ให้ถูกวิธี
ในปัจจุบันพืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป เริ่มมีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 วันที่ 24 สิงหาคม 64 เป็นต้นมา โดยให้ประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรีทั้งสามารถปลูกไว้ครอบครองหรือซื้อ ขาย รวมถึงการบริโภคและสามารถส่งขายเป็นพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ถึงแม้พืชกระท่อมจะถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดแต่ก็ยังมีการออกกฎหมายรองตามมาเพื่อป้องกันการใช้ผิดวิธีเช่นเดียวกัน อาทิ ห้ามขายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ สตรีมีครรภ์ กำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น วัดหรือโรงเรียน ห้ามนำไปผสมกับยาเสพติดชนิดอื่น รวมถึงกำหนดประเภทธุรกิจการส่งออกหรือนำเข้าที่จะต้องมีการขออนุญาตก่อน
รู้จักพืชกระท่อม คืออะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน
ประโยชน์ใบกระท่อม
กระท่อม (Kratom) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ (มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท) Mitragyna Speciosa Korth อยู่ในวงศ์ รูเบียซีอ (Rubiaceae) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางมีลักษระใบคล้ายใบกระดังงา สามารถพบได้มากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และบางจังหวัดของภาคกลาง กระท่อมในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 สายพันธุ์ ดังนี้
- กระท่อมสายพันธุ์ก้านแดง สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยจะมีลักษณะของก้านและเส้นใบสีแดง โดยหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะนิยมใช้สายพันธุ์นี้มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการผสมยาเพื่อรักษาโรค อาทิ โรคท้องร่วง โรคเบาหวาน แก้ไอ เป็นต้น
- กระท่อมสายพันธุ์แตงกวาหรือก้านใบสีเขียว จะมีเส้นใบสีเขียวที่อ่อนกว่าบริเวณแผ่นใบ
- กระท่อมสายพันธุ์ยักษ์ใหญ่ จะมีใบขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และบริเวณส่วนบนของใบจะมีลักษณะเป็นขอบหยัก
สรรพคุณของพืชกระท่อมมีอะไรบ้าง
ใบกระท่อมถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำสรรพคุณทางยาของพืชแต่ละชนิดมาใช้สำหรับรักษาอาการต่าง ๆ โดยมีสรรพคุณทางยาที่สำคัญ คือ
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย
- รักษาโรคบิด อาการท้องเสีย ท้องเฟ้อ และอาการมวนท้อง
- ใช้ทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผล
- แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท คลายวิตกกังวล
- รักษาโรคเบาหวาน
- แก้ไอ
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และช่วยรักษาระดับพลังงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานขึ้น
ใบกระท่อม ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรในท้องถิ่นมายาวนาน แต่เดิมชาวบ้านจะนิยมเคี้ยวใบสด นำไปตำน้ำพริก หรือนำใบแห้งมาเคี้ยว สูบ รวมถึงชงเป็นน้ำชาเพื่อช่วยให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงเมื่อต้องออกไปทำงาน เนื่องจากพืชกระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน ที่ช่วยกระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อแก้อาการท้องผูกอีกด้วย โดยจะมีการใช้ร่วมกับสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยระบายท้อง ถึงแม้ว่าใบกระท่อมจะมีสรรพคุณทางยาในการรักษาและบรรเทาอาการต่าง ๆ แต่หากกินในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและก่อให้เกิดโทษได้เช่นเดียวกัน รวมถึงยังมีกลุ่มคนที่นำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับสรรพคุณทางยา
สรรพคุณทางยาในกระท่อม
อาการข้างเคียงของใบกระท่อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ
นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว โทษของใบกระท่อมก็มีเช่นเดียวกันโดยเฉพาะผู้ที่กินใบกระท่อมมากจนเกินไป อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ดังนี้
- ปากแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ
- นอนไม่หลับ
- ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
- หากรับประทานในปริมาณมาก ๆ จะทําให้มึนงง คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเมากระท่อมร่วมกับอาการหวานระแวง เห็นภาพหลอนหรือพูดจาไม่รู้เรื่อง
- ผู้ที่รับประทานใบกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวคล้ำและเข้มขึ้น
- สำหรับผู้ที่รับประทานโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการ “ถุงท่อม” ในบริเวณลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้เกิดเป็นถุงก้อนขึ้นมา
การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ เนื่องจากในใบกระท่อมมีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายฝิ่นแต่มีฤทธิ์น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และ 7-hydroxymitragynine ที่ถึงแม้จะพบสารชนิดนี้ได้น้อยมากในใบกระท่อมสดแต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ากว่ามอร์ฟีนถึง 100 เท่า ดังนั้นสำหรับผู้รับประทานใบกระท่อมบางรายอาจก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน โดยทำให้มีอาการใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก ร่วมกับมีความดันโลหิตสูงนั่นเอง
ถึงแม้ในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ถือเป็นยาเสพติดแล้วและมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันรวมถึงมีความผิดทางกฎหมายหากมีการนำไปใช้แบบผิดวิธี ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับสรรพคุณทางยา พร้อมดูแลร่างกายให้แข็งแรงห่างไกลจากอาการเจ็บป่วย รวมถึงเตรียมความพร้อมในเรื่องของสุขภาพด้วยการเลือกทำประกันภัยสุขภาพที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าหมอ เงินชดเชยรายได้เมื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ฮักส์มีกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพหลากหลายยินดีให้คำแนะนำการเลือกทำประกันภัยที่เหมาะกับคุณ ติดต่อได้ผ่านช่องทาง Facebook: HUGS Insurance หรือทางช่องทางไลน์ @hugsinsurance หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข, กองควบคุมวัตถุเสพติด, thairath