สาเหตุอาการปวดหลังเรื้อรัง อันตรายที่ควรรู้
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
โรคปวดหลังเรื้อรัง อาการเจ็บป่วยที่ไม่ควรมองข้าม
อาการปวดหลังเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งของโรค Office Syndrome พบมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยไม่ยอมพักสายตา ไม่ยอมลุกเดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ทำให้เกิดการอักเสบและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และนำไปสู่อาการปวดคอ ปวดตามตัว รวมถึงปวดหลังเรื้อรังตามมา ซึ่งอาการปวดหลังไม่ได้แค่รบกวนการทำงานเท่านั้น ยังกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่น้อย เพราะอาการดังกล่าวปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอน ลุกเดิน หรือนั่งดูทีวีเฉย ๆ
แม้รู้สาเหตุของการปวดเหล่านั้นหลายคนยังเลือกปล่อยไว้ ด้วยคิดว่ากินยาเดี๋ยวก็หาย ปวดตามร่างกายนวดไปนวดเดี๋ยวก็หาย แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดเรื้อรังอาจนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงในอนาคตได้ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้าย ตามไปดูสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรัง ไปจนถึงอาการปวดหลังแบบไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง
ทำไมถึงปวดหลังเรื้อรัง
อาการปวดหลัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุแม้อยู่ในสภาวะปกติที่กระดูกสันหลังรับน้ำหนักของร่างกายตลอดเวลา หรือในเวลานอนจะรับน้ำหนักน้อยที่สุด รวมถึงมีอาการปวดหลังจากปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นทำให้รู้สึกปวดหลัง อาทิ ถือของหนัก ก้มยกของผิดวิธี และบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หากละเลยอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรก อาจนำไปสู่โรคปวดเรื้อรังได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง มีอะไรบ้าง
(1) น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ทำให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังต้องรองรับน้ำหนักมากอยู่ตลอดเวลา
(2) การนั่งท่าเดิมนานเกินไปหรือนั่งไขว่ห้าง
(3) ภาวะกระดูกพรุนหรือบาง
(4) เกิดจากการออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป
(5) ที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไป ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะคดงอนาน ๆ นำไปสู่อาการปวดเมื่อยตัวและปวดหลัง
(6) สะพายกระเป๋าใบใหญ่ และหนักเป็นประจำทุกวัน
(7) การสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้ไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังด้านนอกได้อย่างเต็มที่
(8) ความตึงเครียด อาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อหลัง ทำให้มีอาการเกร็งและปวดหลังได้
อาการปวดหลังมีโอกาสเกิดกับทุกเพศทุกวัย
อาการปวดหลัง บอกโรคอะไรได้บ้าง
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังรุนแรงถึงขั้นไม่อาจขยับตัวได้ อีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ รู้สึกปวดเมื่อไอ จาม มีอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
สาเหตุ
เกิดจากการก้ม ๆ เงย ๆ เพื่อยกของหนัก หรือนั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงเสื่อมตามธรรมชาติ
กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
มีอาการคล้ายกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา โดยอาการปวดที่พบบ่อย คือ ปวดเกร็งหลัง หรือกล้ามเนื้อหลังหดเกร็ง
สาเหตุ
มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการยกของหนักเป็นประจำ โดนกระแทกอย่างรุนแรง และหักโหมออกกำลังกาย เป็นต้น
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ เมื่อมีอาการปวดหลังควบคู่กับผู้ป่วยไม่สามารถก้มหลังได้สุด มีความรู้สึกตึง ๆ ขัด ๆ ที่หลังตอนก้มตัวลง ถ้ากระดูกสันหลังเสื่อมลงมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้างจนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
สาเหตุ
เกิดจากข้อต่อที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างเสื่อมสภาพลง
วัณโรคกระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังแบบไม่ทราบสาเหตุ และมักมีไข้ขึ้นตอนกลางคืน อาการเหล่านี้อาจเกิดเพราะติดเชื้อวัณโรค เมื่อเชื้อแพร่กระจายไปที่กระดูกแล้วเข้าไปทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ หรือเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลัง
สาเหตุ
มีการติดเชื้อบางอย่าง อาทิ เชื้อแบคทีเรีย หรือวัณโรคกระดูกสันหลัง
วิธีการรักษาอาการปวดหลัง
แนวทางการรักษาอาการปวดหลังมีด้วยกันหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด ดังนี้
รักษาด้วยตนเอง
วิธีนี้เป็นการบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยการประคบร้อน ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดหรือเกร็งประมาณ 20-30 นาที ในท่านอนคว่ำ หรือใช้ยาทาบริเวณที่ปวดควบคู่กับกินยาแก้ปวดทั่วไป และยาคลายกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ไม่ควรทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะมีผลต่อไตและอาจระคายเคืองกระเพราะอาหารได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรักษาในขั้นต่อไป
กายภาพบำบัด
รักษาอาการปวดหลังเรื้อรังด้วยวิธีกายภาพบำบัด
เป็นวิธีที่ถูกใช้รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง โดยทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดมีหลายแบบ อาทิ การใช้ความร้อน อัลตราซาวด์ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า กายภาพบำบัดด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้งานหลังของผู้ป่วยในชีวิตประจำวัน
การผ่าตัด
เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ หรือกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขโครงสร้างกระดูก อาทิ เส้นประสาทถูกกดทับ หรือโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นต้น
วิธีป้องกันอาการปวดหลังเรื้อรัง มีแบบไหนบ้าง
(1) เวลานั่งเก้าอี้ ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้นและเอนหลังไปที่พนักพิง เพื่อให้ร่างกายถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปที่เก้าอี้แทนการทรงตัวด้วยกระดูกสันหลัง
(2) ออกกำลังกายท่าง่าย ๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
(3) ทานอาหารที่ให้แคลเซียม เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง
(4) ไม่ควรทำงานด้วยท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ แนะนำให้เปลี่ยนท่านั่งหรือปล่อยเอนหลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนบ้าง
(5) หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหลัง
อย่างไรก็ดี ถ้าลองรักษาอาการปวดหลังด้วยตนเองแล้ว แต่ยังคงปวดหลังไม่หายสักที แถมมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เข้ารับการตรวจสุขภาพโดยละเอียดหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อแก้ไขให้ทันท่วงทีจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด
และสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องสุขภาพ สามารถเซฟตัวเองโดยการทำประกันภัยสุขภาพติดไว้ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาจะได้มีบริษัทประกันภัยช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ฮักส์มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพที่หลากหลายครอบคลุมครบทุกรูปแบบที่คุณต้องการ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลสมิติเวช