14 โรคติดต่อร้ายแรง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
อัปเดตโรคติดต่อร้ายแรง ที่ควรรู้จักไว้มีอะไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในครอบครัว ยิ่งถ้าเป็น "โรคติดต่อร้ายแรง" หรือ "โรคติดต่ออันตราย" ด้วยแล้ว ระดับความรุนแรงและความอันตรายของโรคเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถติดต่อกันได้ระหว่างบุคคล วันนี้ตามเราไปหาคำตอบพร้อมกันเลยว่า โรคติดต่อร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีอะไรบ้าง
โรคติดต่อร้ายแรง คืออะไร
เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยโรคที่ถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีดังนี้
- มีความรุนแรงสูง (ทั้งเรื่องของอัตราการเสียชีวิต หรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจ)
- ไม่มียารักษา
- ไม่มีวัคซีน
โรคติดต่อร้ายแรงในประเทศไทย มีโรคอะไรบ้าง
โดยตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระบุโรคติดต่อไว้ดังนี้
- กาฬโรค (Plague)
เป็นโรคติดต่อที่มีพาหะจากหมัดของสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระรอก กระแต กระต่าย เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ รักแร้ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เป็นเหตุให้เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จนหัวใจวายและเสียชีวิต
- ไข้ทรพิษ (Smallpox)
ไข้ทรพิษหรือฝีดาษเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) สามารถติดต่อกันได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสทางผิวหนังของผู้ป่วยโดยไม่ป้องกัน และการใช้เครื่องนอน เสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วยก็ทำให้ติดเชื้อได้ อาการที่เห็นชัดของโรคนี้ คือ มีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะ ชัก ปวดหลังอย่างรุนแรง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้
- ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean - Congo hemorrhagic fever)
เป็นโรคติดต่อที่มีจุดกำเนิดอยู่ที่แหลมไครเมียและในคองโก โดยพาหะเป็นแมลงที่มีเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) หากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีอาการไข้เฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บตา ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงและปวดท้อง ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน ก้าวร้าว นอกจากนี้ยังพบเลือดออกใต้ผิวหนังและจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกจากเหงือก เป็นต้น
- ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)
ยุงพาหะนำโรคตัวร้ายภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต
เป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ แล้วนำเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มาติดต่อสู่คน หากติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออก มีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รายที่อาการรุนแรงจะมีอาการสมองร่วมด้วย อาทิ สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- ไข้เหลือง (Yellow fever)
เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อถูกยุงซึ่งเป็นพาหะกัด ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ร่วมกับอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ ต่อมาจะมีอาการเลือดออกปาก ออกจมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการอาเจียนและถ่ายเป็นเลือด
- โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)
หนูเป็นพาหะของเชื้อโรคไข้ลาสซา
เป็นไข้เลือดออกที่มีหนูเป็นพาหะ ติดต่อได้จากการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรืออุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก ตาอักเสบ คออักเสบและเป็นหนอง ในรายที่อาการหนักจะมีเลือดออก ช็อก และมีภาวะเกล็ดเลือดลดลงผิดปกติ
- โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease)
เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งมีพาหะจากสัตว์ อย่าง ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ หรือแกะ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่บางรายมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ระบบหายใจหรือทางระบบประสาทร่วมด้วย
- โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)
เป็นหนึ่งในโรคไข้เลือดออกที่มีเชื้อมาจากลิงและค้างคาว อาการผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงตามตัว และมีอาการเลือดออกง่าย ซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลายและไตวาย ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
- โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)
เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง มีพาหะเป็นสัตว์ป่าชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง ค้างคาวผลไม้ หรือลิง การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ได้จำกัดอยู่ที่การสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสเท่านั้น เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ สารคัดหลั่งต่าง รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาทิ ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ เป็นต้น
โดยผู้ป่วยโรคอีโบลา จะมีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ตามด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน มีเลือดออกตามเยื่อบุของร่างกาย หากมีอาการรุนแรงส่งผลให้การทำงานของตับและไตล้มเหลว
- โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra virus disease)
เป็นไวรัสที่มีแหล่งกำเนิดจากม้าและค้างคาวกินผลไม้ อาการของโรคนี้คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน และมักพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
- โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS)
โรคซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยอาการที่พบ คือ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ หายใจลำบาก ในบางรายมีอาการปอดอักเสบด้วย
- โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome - MERS)
ต้นตอของโรคเมอร์มาจากไวรัสโคโรนา
เกิดจากโคโรนาไวรัส ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเยื่อหุ้มปอดและหลอดลม ส่วนอาการที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ไอ หอบ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หากอาการรุนแรงจะมีภาวะปอดอักเสบ หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
- วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug - resistant tuberculosis (XDR-TB))
เป็นวัณโรคที่มีการดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน ได้แก่ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และกลุ่มยาทางเลือกที่สอง ซึ่งเป็นยาชนิดฉีด (Second-line injectable drugs) นั่นเท่ากับว่า ผู้ป่วยวัณโรคชนิดนี้ไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวรักษาอาการป่วยได้
- โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019)
โรค COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดหนึ่ง
เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ อาการป่วยคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ถ้ามีอาการหนักจะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ 14 โรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น ยังมีโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นอักเสบ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและวางแผนรับมือโรคภัยไข้เจ็บไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทุกคนควรตรวจสุขภาพปีละครั้งเพื่อค้นหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ และอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้คุณอุ่นใจ คือ การเลือกทำประกันภัยติดไว้สัก 1-2 กรมธรรม์ อย่าง ประกันภัยสุขภาพ คู่กันกับประกันภัยมะเร็ง ประกันภัยโควิด หรือประกันโรคร้าย สิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจว่า คุณจะมีเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล และได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม แถมเบี้ยประกันยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรได้อีกด้วย
หากยังลังเลเกี่ยวกับประกันภัย ฮักส์ยินดีให้คำแนะนำการเลือกซื้อประกันภัยสุขภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต พร้อมช่วยค้นหาความคุ้มครองในแบบที่คุณต้องการ ติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักระบาดวิทยา, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลสมิติเวช, ราชกิจจานุเบกษา, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข