ไขข้อสงสัย ไข้หวัดใหญ่ กับ โควิด อาการต่างกันยังไง
เขียนเมื่อวันที่ 26/01/2022
ส่องอาการชัด ๆ ไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ความเหมือนที่แตกต่าง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ลากยาวมาเกือบ 2 ปี กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนถึงเชื้อโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือโอไมครอน (Omicron) ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แม้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนดูมีความรุนแรงน้อยกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้าแต่ไม่ควรปล่อยให้มีการติดเชื้อ เพราะหากปล่อยให้เชื้อไวรัสตัวนี้แพร่เป็นวงกว้างอาจทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศรองรับไม่ทัน ทั้งปัจจุบันประเทศไทยพบคลัสเตอร์โอไมครอนในหลายจังหวัด โดยผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนหลายรายมีอาการคล้ายเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือแทบไม่แสดงอาการ เป็นผลให้บางคนชะล่าใจคิดว่าอาการป่วยที่ตนเป็นอยู่ไม่ใช่อาการติดเชื้อ COVID-19 จึงไม่ตรวจหาเชื้อไวรัส กว่าจะรู้ตัวก็ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา และวันนี้ HUGS Insurance ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ว่ามีอาการเหมือนหรือแตกต่างกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนอย่างไร
รู้ไว้ โรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด เกิดจากอะไร
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza Virus) โดยมีระยะฟักตัวเพียง 1-3 วัน สามารถจำแนกออกเป็น 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C
แม้ไข้หวัดใหญ่มีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดธรรมดา เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเจ็บป่วยด้วยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน อาจทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงถึงขั้นมีอาการปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
โรคโควิด-19
สำหรับโรค COVID-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยต้นตอของไวรัสชนิดนี้มาจากสัตว์ที่เป็นตัวกลางที่แพร่เชื้อสู่มนุษย์ เมื่อได้รับเชื้อแล้วผู้ป่วยมีอาการคล้ายเป็นไข้และมีความผิดปกติด้านระบบทางเดินหายใจ ยิ่งหากมีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาส่งผลให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้โรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นการไอ จาม น้ำลาย น้ำมูก หรือนำมือที่สัมผัสเชื้อไปมาจับตา จมูก และปาก เป็นเหตุให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
แยกให้ชัด ไข้หวัดใหญ่และโควิดโอไมครอน มีอาการเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
Omicron เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ลำดับที่ 5
อาการป่วย
ไข้หวัดใหญ่ : ในผู้ใหญ่มีไข้สูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส แต่เด็กอาจมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส โดยอาจมีไข้สูงอย่างต่อเนื่องนานประมาณ 3-5 วัน ร่วมกับอาการหนาวสั่นและอาการคลื่นไส้อาเจียน
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : ไม่ค่อยมีไข้หรืออาจมีไข้ต่ำ ๆ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส โดยอาจมีอาการป่วยแค่ 1-2 วัน
เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก
ไข้หวัดใหญ่ : เมื่อติดเชื้อไวรัสที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอร่วมกับการไอเพราะหลอดลมอักเสบ โดยบางรายอาจไอรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก รวมถึงคัดจมูกและมีน้ำมูก
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอาจมีอาการไอแห้งและเจ็บคอเพียงเล็กน้อย
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ไข้หวัดใหญ่ : นอกจากมีไข้สูงและอาการปวดศีรษะแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนและขามาก ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีอาการปวดเมื่อยตามตัวเช่นกัน
การรับรู้กลิ่นและรส
ไข้หวัดใหญ่ : ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังมีความสามารถในการรับรู้กลิ่นและรส เพียงแต่อาจไม่ดีเท่าเดิมเนื่องจากอาการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้กลิ่นขึ้นไม่ถึงปลายประสาทรับกลิ่น
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : แม้หนึ่งในอาการโควิดที่โดดเด่น คือ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสอย่างฉับพลัน แต่ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกลับแตกต่างจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา เพราะจมูกผู้ป่วยยังได้กลิ่น ส่วนลิ้นยังสามารถรับรสได้เหมือนเดิม
ความรุนแรงของโรค
ไข้หวัดใหญ่ : โรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้โดยมากเป็นการรักษาตามอาการ แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ฉะนั้นเพื่อโอกาสเสียชีวิตควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : แม้ความรุนแรงของโควิดกลายพันธุ์ตัวนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้การเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่หากตรวจพบอาการปอดอักเสบก็สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้
โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน
การแพร่ระบาด
ไข้หวัดใหญ่ : เชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายทางการไอ และจาม การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อน
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน : ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามในระยะ 1-2 เมตร และตามพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของน้ำลาย เมื่อจับแล้วสัมผัสต่อไปที่ใบหน้า จมูก ปาก
ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ได้ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำ
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปากของตัวเองหากสัมผัสกับผู้ป่วย
- หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ควรอยู่ห่างจากผู้อื่น ทั้งควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
วิธีป้องกันโรคโควิด-19
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้านหรืออยู่ในพื้นที่แออัด
- ทานอาหารปรุงสุก สะอาด และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมหลักเป็นแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา หู หากยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- หมั่นใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดเครื่องใช้ อุปกรณ์ภายในบ้าน ที่ทำงาน รวมถึงจุดสัมผัสต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสร่วมกันกับผู้อื่นบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
- เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
- เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบอาบน้ำสระผมเพื่อชำระล้างร่างกายทันที เพราะอาจมีความเสี่ยงที่ไปสัมผัสเชื้อได้แบบไม่รู้ตัว
- เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อลดความรุนแรงของอาการจากการติดเชื้อ
เห็นได้ว่านอกจากดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทุกคนควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีน COVID-19 เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยหรือติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ รวมถึงวางแผนรองรับวิกฤตด้านสุขภาพผ่านการทำประกันภัยสุขภาพที่คุ้มครองทั้งการเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) การนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน (IPD) พร้อมจ่ายค่าห้องผู้ป่วยปกติและห้องผู้ป่วยหนักเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงความคุ้มครองครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตลอดจนมอบเงินชดเชยรายได้ ฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาการเลือกแผนกรมธรรม์ที่เหมาะกับคุณผ่านช่องทาง Facebook, LINE @hugsinsurance หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข