4 โรคจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน ติดต่อสู่คนได้ รู้ไว้ให้ระวัง
เขียนเมื่อวันที่ 27/07/2021
โรคระบาดจากสัตว์สู่คน อันตรายใกล้ตัวที่ต้องระวัง
ทุกวันนี้หลายคนเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว และรู้สึกสบายใจทุกครั้งเมื่อมีสัตว์เลี้ยงตัวน้อยมานั่งคลอเคลียอยู่ข้าง ๆ แต่เดี๋ยวก่อนสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันไม่ได้มีแค่สุนัขหรือแมวเท่านั้น ยังมีสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ ที่หลายคนนิยมเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นหนูแฮมสเตอร์ กระรอก กระต่าย เต่า งู หรือนก แล้วรู้ไหมว่าถ้าดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักไม่ดี นอกจากเจ็บป่วยยังอาจก่อให้เกิดโรคติดต่อแพร่มาสู่ผู้เป็นเจ้าของได้เช่นกัน โดยโรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่คนได้จะมีอะไรบ้างนั้น สามารถติดได้ผ่านช่องทางไหน ไปจนถึงมีวิธีป้องกันตัวอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
โรคระบาดจากสัตว์สู่คน คือ
เป็นโรคที่มาจากสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่างสุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงตัวใหญ่ ๆ เช่น สุกร วัว ม้า หรือโค ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ โดยเชื้อโรคที่ติดต่อสู่คนไม่ได้มีแค่เชื้อไวรัสเท่านั้น ยังมีเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคใหม่อีกมากมาย
โรคจากสัตว์เลี้ยงติดต่อสู่คนได้อย่างไร
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดได้โดยหลายวิธี อาทิ
(1) การสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคโดยตรง ทั้งเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราหรือเชื้อไวรัสโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน COVID-19
(2) สัมผัสกับมูลสัตว์ที่เป็นโรค
(3) ถูกกัดจากสัตว์ที่เป็นโรค
(4) การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค หรือจากการปรุงเนื้อสัตว์เหล่านั้นด้วยตนเอง ทำให้ฝุ่นละอองและของเหลวต่าง ๆ ในเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยการสูดดมผ่านจมูก หรือนิ้วมือจับเนื้อสัตวแล้วมาขยี้ตา เป็นต้น
รู้ทัน 6 โรคจากสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ติดต่อสู่คนได้
1 โรคพิษสุนัขบ้า
แม้ใช้ชื่อว่า "โรคพิษสุนัขบ้า" แต่สัตว์ที่เป็นพาหะของโรคไม่ได้มีแค่สุนัขเท่านั้น เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอย่างแมว หนูแฮมสเตอร์ กระรอก กระต่าย ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน โดยโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “เรบีส์” เมื่อเชื้อไวรัสตัวนี้เข้าสู่ร่างกายจะไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาท โดยเฉพาะที่สมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการป่วยอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเสียชีวิตสูง ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 100%
การติดต่อโรค
เชื้อไวรัสเรบีส์ปนอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อสู่คนหรือสัตว์ผ่านการกัด ถูกข่วน หรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล เข้าตา จมูก หรือปาก
วิธีป้องกัน
แม้โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษาแถมมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่สามารถป้องกันโรคได้ง่าย ๆ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณเป็นประจำทุกปี ส่วนผู้ที่ถูกกัดไม่ว่าจะเป็นแผลเล็ก แผลใหญ่ หรือเป็นแค่รอยข่วน รอยช้ำเขียว หากไม่แน่ใจว่าสัตว์ตัวนั้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วหรือยัง ควรรีบล้างแผลให้สะอาด แล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายในวันนั้นทันที
2 โรคฉี่หนู
หลายคนอาจไม่รู้ว่า โรคฉี่หนูไม่ได้เกิดกับเฉพาะหนูเท่านั้น สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ในบ้านอย่างสุนัขก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน หากสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราขับปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาปะปนกับน้ำดื่มหรืออาหารที่เราทานเข้าไปก็สามารถติดเชื้อได้ รวมถึงการสัมผัสหรือได้รับแบคทีเรียผ่านบาดแผล
วิธีป้องกัน
- หากเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาด รวมถึงกำจัดของเสียของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- หมั่นล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง เมื่อต้องสัมผัสหรือจับภาชนะบรรจุของเสียของสัตว์เลี้ยง
3 โรคแมวข่วน
แมวมีโอกาสเป็นพาหะเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง เนื้อเยื่อข้างเคียง และต่อมน้ำเหลือง ในรายที่อาการไม่รุนแรงพบเพียงผื่นแดง ตุ่มพองบริเวณที่ถูกแมวข่วนหรือกัดเท่านั้น แต่ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็สูงตามไปด้วย
การติดต่อโรค
เกิดจากถูกแมวที่มีเชื้อข่วนหรือกัดตามร่างกายจนทำให้เกิดแผล หรือติดเชื้อเพราะถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล
วิธีป้องกัน
- ควรระวังตัวไม่ให้โดนสัตว์เลี้ยงข่วนหรือกัด หากโดนข่วนหรือกัดให้รีบล้างแผลให้สะอาดทันที
- หลังจากที่เล่นกับแมวเสร็จ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการเล่นอย่างรุนแรงกับสัตว์เลี้ยงหรือแมว เพราะอาจจะทำให้ถูกข่วนและกัดได้
- อย่าให้สัตว์เลี้ยงเลียแผล และหมั่นอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันเห็บหมัด ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อ
4 โรคเชื้อราบนผิวหนัง
แม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคพิษสุนัขบ้า แต่สร้างความรำคาญให้ผู้ติดเชื้อได้ไม่น้อย เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกคันบริเวณที่มีตุ่มแดงขึ้นจนอยากเกาตลอดเวลา หากใช้นิ้วเกาที่ผื่นแดงแล้วไปเกาที่ผิวหนังส่วนอื่นต่ออาจทำให้ผิวหนังส่วนนั้น ติดเชื้อราจนเป็นผื่นแดงเพิ่มขึ้นได้อีก โดยที่มาของเชื้อราชนิดนี้ เกิดจากสัตว์เลี้ยงของคุณที่มีขนฟู นุ่มนิ่ม หรือขนหนายาวเป็นพิเศษ เมื่ออาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงแล้วไม่เป่าขนให้แห้งทุกครั้ง อาจทำให้มีความชื้นสะสมจนก่อให้เกิดเชื้อรา
การติดต่อโรค
เป็นการติดเชื้อราผ่านการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่ป่วยโดยตรง ทั้งการอุ้ม กอด ลูบ หรือหอม
วิธีป้องกัน
- หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือหรือทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสสัตว์เลี้ยงให้สะอาดทุกครั้ง
- ดูแลทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ หลังอาบน้ำเช็ดตัว เป่าขนให้แห้งทุกครั้ง
- นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา
ถึงแม้จะรักสัตว์เลี้ยงมากแค่ไหน ก็ไม่ควรละเลยสุขภาพตัวเองด้วย โดยการพยายามใช้ชีวิตให้บาลานซ์ไม่ทำงานหนัก แบ่งเวลาทำงานมายืดเส้นยืดสายป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แม้สุดท้ายหลีกหนีอาการเจ็บป่วยไม่ได้ แต่สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เพียงมีตัวช่วยอย่างประกันภัยสุขภาพที่พร้อมเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยต่าง ๆ แทนคุณ และใครที่มองหาประกันภัยสุขภาพอยู่ Hugs Insurance Broker ยินดีให้คำแนะนำการเลือกทำประกันภัยให้เหมาะสมกับความต้องการในการรับความคุ้มครอง สามารถติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก