วิธีดูแลตัวเองให้ห่างจากโรคไต ปลอดภัยจากโรคร้าย
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
ปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไต
การดูแลตัวเองสร้างสุขภาพที่ดีให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่หลายคนพึงกระทำ เพราะโรคบางอย่างเป็นแล้วไม่หาย ซึ่งโรคไตเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง นอกจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย ยังมีค่ารักษาที่ต้องจ่ายไม่จบไม่สิ้น แต่เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ แค่ดูแลสุขภาพเพื่อห่างไกลจากโรคไตตามวิธีที่เรานำมาฝาก
ทำความรู้จักโรคไต
เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของไต ทำให้ไตไม่สามารถขับของเสียและสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกายเพื่อรักษาความสมดุลของเกลือแร่และน้ำในร่างกายได้ เป็นเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา เพราะไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ นอกจากนี้ถ้าไตเสียหายไม่มีทางทำให้กลับมาเป็นปกติได้อีก
โรคไต เกิดจากอะไร
แม้การรับประทานอาหารรสเค็มเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไต แต่ในความเป็นจริงยังมีสาเหตุอีกหลายอย่าง อาทิ
- คนในครอบครัวมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง
- การรับประทานอาหารรสจัดไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม ยังรวมถึงอาหารรสหวานจัด เผ็ดจัด และมีไขมันสูง เป็นต้น
- ดื่มน้ำน้อยเกินไปส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นและปัสสาวะมีสีเข้ม เพราะน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ควรดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 8-10 แก้ว
- มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ อายุมาก สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
โรคไต เป็นแล้วมีอาการอย่างไร
อาการของผู้ป่วยโรคไตขึ้นอยู่กับระยะและสาเหตุของโรค โดยระยะเริ่มต้นผู้ป่วยแทบไม่แสดงอาการ กระทั่งโรคไตมาถึงขั้นร้ายแรงผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
- อ่อนแรง
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับ
- คันตามตัว
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน
- เท้าและข้อเท้าบวม
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ฯลฯ
โรคไตแบ่งเป็นกี่ระยะ มีอะไรบ้าง
ระยะของโรคไตถูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามค่าประเมินการทำงานของไต ดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ไตเริ่มเสื่อม แต่ยังทำงานปกติ
- ระยะที่ 2 ไตเสื่อม อัตราการกรองของไตลดลง
- ระยะที่ 3 ไตเสื่อม อัตราการกรองของไตลดลงปานกลาง
- ระยะที่ 4 ไตเสื่อม การทำงานของไตลดลงอย่างมาก
- ระยะที่ 5 เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
แนะนำวิธีดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคไต
ทานอาหารครบ 5 หมู่ ช่วยให้ห่างไกลโรคไต
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป อาทิ รสเค็มจัด หวานจัด และอาหารที่มีกะทิซึ่งมีไขมันสูง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ลดการทานขนมเพราะมีโซเดียมแฝงอยู่
- หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจส่งผลให้ไตอักเสบเฉียบพลันได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือควบคุมปริมาณการดื่ม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดและแก้อักเสบเกินความจำเป็น เพราะอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไต
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
ผู้ป่วยโรคไตกับวิธีดูแลตัวเองช่วงโควิด-19
สำหรับช่วงวิกฤต COVID-19 ผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 3 ถึงระยะที่ 5 เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้
(1) ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือด ถ้ามีไข้ หรือเป็นไข้หวัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ทราบก่อนเข้ารับบริการ
(2) ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ควรขอให้แพทย์สั่งยาที่ต้องทานเป็นประจำไว้สำรองไว้อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
(3) หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น รวมถึงพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด
(4) ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
(5) ถ้าพบอาการผิดปกติ ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์ทันที
เมื่อรู้กันแล้วว่า ไต เป็นอวัยวะที่ช่วยขับของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลการหมั่นดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งด้านการรับประทานอาหารและออกกำลังช่วยให้ห่างไกลโรคไต ถ้าคุณอยากเพิ่มความอุ่นใจมีผู้ช่วยคอยดูแลค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ประกันภัยสุขภาพอุ่นใจรักษ์ โกลด์ วงเงินคุ้มครองสูงสุด 5 ล้านบาทต่อครั้ง ฮักส์พร้อมตอบทุกคำถามเรื่องการทำประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้คุณเลือกซื้อประกันภัยได้ตรงตามความต้องการ สามารถโทรได้ที่ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลพระรามเก้า