กฎหมายจราจรที่ต้องรู้ ป้องกันอุบัติเหตุบนถนน
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
ทบทวนกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้รถยนต์มากยิ่งขึ้น นอกจากเพื่อความเป็นส่วนตัว ยังเพิ่มความสะดวกสบายเวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ แม้ต้องพบเจอกับปัญหาจราจรติดขัด หลังปริมาณรถไม่สัมพันธ์กับจำนวนถนน และสิ่งหนึ่งที่ประมาทไม่ได้ นั่นคืออุบัติเหตุบนท้องถนน เหมือนที่หลายคนชอบพูดว่า "ถ้าเราไม่ชนเขา เดี๋ยวเขาก็ชนเรา" หรือ "ต่อให้ระวังแค่ไหน ถ้าเพื่อนร่วมทางไม่ระวัง ก็เกิดอุบัติเหตุได้" ฉะนั้นการรู้กฎหมายที่ใช้ในการควบคุมการจราจรให้เป็นระเบียบและมีความเรียบร้อย นอกจากเพื่อดูแลตัวเอง ยังช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์
ข้อกฎหมายจราจรที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง
ขับรถเร็วเกินกำหนด
การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นสาเหตุหลักที่พบผู้ทำผิดกฎจราจรเป็นอันดับต้น ๆ แม้จะมีการเพิ่มกล้องตรวจจับความเร็วเพื่อแก้ปัญหา แต่พอพ้นจุดที่มีการติดกล้องผู้ขับขี่ก็กลับมาใช้ความเร็วสูงอีกครั้ง โดยความเร็วที่กฎหมายจราจรกำหนดไว้ สำหรับถนนจราจรที่มีตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป คือ รถยนต์ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปลี่ยนช่องจราจรและเลี้ยวรถโดยไม่เปิดสัญญาณไฟ
อีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คือ การไม่ให้สัญญาณไฟในการขับรถ เพื่อให้เพื่อนร่วมทางเห็นว่ารถของเราจะไปทิศทางไหน อาทิ การขับรถออกจากซอย เลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องเดินรถ หรือจอดรถอย่างกระทันหัน ถ้ารถที่ขับตามมาใช้ความเร็วอาจเกิดอุบัติเหตุรถชน หรือโชคร้ายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยควรเปิดไฟให้สัญญาณเวลาขับรถออกจากที่จอด จอดรถริมทาง กลับรถ หรือก่อนที่จะเลี้ยวรถเสมอ
ขับรถแช่ในเลนทางขวา
เพื่อให้ผู้ขับขี่ด้านหลังสามารถแซงขึ้นไปทางด้านขวาได้ ไม่ควรขับแช่เลนขวาเป็นเวลานาน เมื่อขับแซงขึ้นไปได้ควรรีบเปลี่ยนเลน มิฉะนั้นถือว่าทำผิดกฎจราจรในข้อหาขับรถกีดขวางจราจร
ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
เป็นหนึ่งในกฎหมายจราจรที่หลายคนละเลย การคาดเข็มขัดนิรภัยช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัยช่วยรั้งผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารให้ติดกับเบาะที่นั่ง ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถหรือถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัย รวมถึงกระจกหน้ารถ
ขับรถฝ่าไฟเหลือง
เชื่อว่าผู้ขับขี่ต่างทราบกันดีว่า สัญญาณไฟจราจรมีความหมายอะไรบ้าง ทั้งสัญญาณไฟแดงต้องหยุดรถ ไฟเขียวให้ขับรถไปต่อได้ ส่วนไฟเหลืองเป็นสัญญาณให้เตรียมหยุดรถ ถ้ามองเห็นมาตั้งแต่ระยะไกล ๆ ก็ควรแตะเบรกชะลอให้รถช้าเพื่อหยุด แต่ในความเป็นจริงพอเห็นไฟเหลืองผู้ขับขี่ต่างเหยียบคันเร่งเพื่อไม่ต้องเสียเวลารอไฟเขียวอีกครั้ง กรณีนี้ถ้ารถจากอีกฝั่งรีบออกตัวมาก็มีโอกาสเกิดเหตุรถชนกันได้
อุบัติเหตุรถชนมีสาเหตุมาจากการละเลยกฎจราจร
เปิดเลนพิเศษ
เวลาการจราจรติดขัดถ้าพบว่าถนนมีไหล่ทางด้านซ้ายกว้างพอ ผู้ขับขี่บางคนก็ไม่รีรอเปิดเลนใหม่ขึ้นมาเพื่อความรวดเร็วในการเดินทางของตน ทั้งที่จริงพื้นที่ริมซ้ายสุดเป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์ที่จอดเสีย นอกจากการเปิดเลนพิเศษโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ ยังมีความผิดกฎหมายจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หลายข้อหา อาทิ
มาตรา 33 ในการขับรถผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ ยกเว้นในกรณีที่ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร หรือทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึงหกเมตร
มาตรา 41 ทางเดินรถใดที่มีเครื่องหมายจราจรให้เป็นทางเดินรถทางเดียว ให้ผู้ขับขี่ขับรถไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้
เลี้ยวซ้ายไม่ผ่านตลอด
เป็นเรื่องเข้าใจผิดที่เกิดจากความเคยชินของผู้ขับขี่จำนวนมาก กับประโยคที่ว่า "เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด" แต่ความจริงสี่แยกไฟแดงหลายแห่งไม่ได้เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ผู้ขับขี่ต้องสังเกตป้ายจราจรบอกไว้ว่าอย่างไร และถ้าไม่มีป้ายเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดควรจอดรถรอสัญญาณไฟเขียวแล้วค่อยเลี้ยว
การเคารพกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน หากมีใครสักคนละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อชีวิต นอกจากผู้ใช้รถต้องไม่ประมาทและระมัดระวังในการขับขี่ การทำประกันภัยรถยนต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น เพราะมีประกันภัยรถยนต์หลายแผนที่ครอบคลุมการดูแลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้ทำประกันภัยไม่ต้องออกค่ารักษาพยาบาลก่อนเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดก็มีบริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าเสียหาย รวมถึงมีบริการให้รถสำรองขับในขณะที่ซ่อมคันเก่าอยู่ และเพื่อให้ได้ประกันภัยรถยนต์ที่ตรงใจ ฮักส์มีทั้งประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 พร้อมโปรโมชั่นสุดคุ้มผ่อน 0% และประกันรถยนต์ชั้น 2, 2+, 3+, 3 สามารถปรึกษาฮักส์ได้หลายช่องทาง ทั้ง Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522