รู้ไว้อย่าประมาท ภัยหนาวในประเทศไทยที่ต้องระวัง มีอะไรบ้าง
เขียนเมื่อวันที่ 15/12/2021
พร้อมรับมือภัยหนาว การเอาตัวรอดเมื่ออุณหภูมิต่ำ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น อากาศโดยรวมของประเทศจึงร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปี โดยจะมีสภาพอากาศระหว่างภาคเหนือและภาคใต้แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่ภาคเหนือจะสัมผัสได้มากกว่า บางพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำจนเข้าสู่ภัยหนาวได้เลย
สาเหตุของการเกิดภัยหนาวในประเทศไทย
ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เป็นช่วงเดือนที่คนนิยมขึ้นดอยเพื่อไปเที่ยวชมทะเลหมอกและดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ ซึ่งอากาศหนาวในอุณหภูมิที่ร่างกายรับได้ถือเป็นเรื่องดี แต่หากอุณหภูมิลดต่ำลงมากจนเข้าสู่ช่วงภัยหนาวจะเป็นช่วงเวลาที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยอุณหภูมิอากาศหนาวแบ่งได้ ดังนี้
- อากาศเย็น - เป็นช่วงที่ร่างกายสัมผัสได้ถึงความหนาว แต่สามารถสร้างความอบอุ่นเองได้ จะมีอุณหภูมิระหว่าง 16.0 - 22.9 องศาเซลเซียส
- อากาศหนาว - เป็นช่วงที่เรียกว่าภัยหนาว โดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ 15.9 องศาเซลเซียส และลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการกันหนาว
- อากาศหนาวจัด - เป็นช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลงกว่า 8.0 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อาจจะอุณหภูมิติดลบ
การประสบปัญหาภัยหนาวมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยทิวเขา เช่น บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีสาเหตุของความหนาว ดังนี้
- ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีฤดูหนาวคือการที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาความหนาวเข้ามาปกคลุมประเทศ อากาศจะไม่หนาวจัด ยกเว้นพื้นที่บนภูเขา
- ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพัดปกคลุม
อิทธิพลความกดอากาศของประเทศจีนมีส่วนทำให้ประเทศไทยหนาวจัดและหนาวฉับพลัน โดยจะส่งผลมากต่อภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคกลางบางส่วนจะได้รับอิทธิพลนี้มากกว่าภาคใต้
- สภาพภูมิศาสตร์โอบล้อมด้วยภูเขา
การที่พื้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขาหรือรายล้อมด้วยหุบเขาทำให้อากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่ในพื้นราบ ทำให้ผู้ประสบภัยหนาวมักจะอยู่ในพื้นที่หุบเขาสูง
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฤดูหนาวไม่ยาวและไม่ได้หนาวจัด แต่สำหรับบางพื้นที่ความหนาวค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในหมู่เด็กและคนชราบนดอยที่มีผู้เสียชีวิตเพราะภัยหนาวทุกปี การรู้จักการรับมือกับภัยหนาวจึงเป็นหนึ่งในทักษะการเอาตัวรอดที่ควรรู้
การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยหนาว
การสวมใส่ชุดที่อบอุ่นช่วยป้องกันความหนาว
การรู้จักเตรียมพร้อมก่อนจะเผชิญกับภัยหนาวช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตจากความหนาวเย็นได้ ดังนี้
- ซ่อมแซมบ้านให้พร้อมสู้ลมหนาว
บ้านเรือนที่เหมาะสมในหน้าหนาวจะต้องเป็นบ้านที่ไม่มีรูรั่วที่พาลมหนาวเข้ามา ควรเป็นสถานที่ที่อบอุ่นกว่าอากาศข้างนอก หากอยู่ในพื้นที่หนาวจัดที่อาจจะประสบกับภัยลูกเห็บควรมีประกันบ้านและทรัพย์สินเอาไว้ด้วย
- เครื่องนุ่งห่มและผ้าห่มที่ช่วยกันความหนาว
อุปกรณ์ป้องกันความหนาวที่ควรมี เช่น เสื้อกันหนาว ผ้าห่ม ผ้าพันคอ หมวก ที่ปิดหู โดยควรเลือกอุปกรณ์ที่ทำมาจากวัสดุที่กันความหนาวได้เป็นอย่างดี
- ฟังประกาศจากทางการอย่างใกล้ชิด
เมื่อฤดูหนาวมาถึงทางการจะมีการประกาศพื้นที่เฝ้าระวังภัยหนาว พร้อมทั้งมีผ้าห่มภัยหนาวและอุปกรณ์กันหนาวอื่น ๆ มาแจกจ่าย ควรฟังประกาศจากทางการอยู่เสมอ
- งดกิจกรรมเสี่ยงที่ไม่ควรทำในหน้าหนาว
บางอย่างเป็นความเชื่อผิด ๆ ในช่วงหน้าหนาว เช่น การดื่มเหล้าขาวช่วยไล่ความหนาวได้ แต่หากดื่มมากเกินไปก็อาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
นอกจากวิธีการเตรียมพร้อมที่กล่าวมาแล้ว การทำประกันภัยสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประหยัดค่าใช้จ่ายหากเจ็บป่วยเพราะภัยหนาว เพราะฤดูหนาวมีโรคตามฤดูกาลที่น่าเป็นห่วงหลายโรคที่ปะปนมากับอากาศ
การปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยหนาว
เมื่อหน้าหนาวมาเยือนควรรู้จักวิธีปฏิบัติตนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เพราะหากไม่ดูแลตัวเองอาจจะเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ปอดบวม ภูมิแพ้กำเริบ ในช่วงหน้าหนาวมีวิธีการดูแลตัวเอง ดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าหนาและอบอุ่นอยู่เสมอ
- ดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ
- เลือกดื่มน้ำอุ่นมากกว่าน้ำเย็น
- อาบน้ำอุ่นมากกว่าน้ำเย็น
- ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อขับไล่ความหนาว
การดูแลตัวเองในช่วงหน้าหนาวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสภาพอากาศช่วงหน้าหนาวเอื้อให้การเติบโตของไวรัสและแบคทีเรียเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจาการดูแลสุขภาพแล้ว หากมีความเสี่ยงเรื่องพายุลูกเห็บสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยหนาว ควรมีประกันภัยบ้านและทรัพย์สินที่คุ้มครองส่วนนี้เอาไว้ด้วย เพื่อให้การซ่อมแซมบ้านง่ายกว่าเดิม สนใจเรื่องประกันภัยสามารถปรึกษาฮักส์ได้ที่ Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855