ค่ารักษาโควิดโรงพยาบาลเอกชน เช็คให้ดีก่อนจ่าย
เขียนเมื่อวันที่ 10/09/2021
ติดโควิดรักษาโรงพยาบาลเอกชน ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงน่าเป็นห่วง มีสายพันธุ์ไวรัสใหม่อย่างสายพันธุ์เดลตาและเดลตาพลัสเกิดขึ้น ทำให้การแพร่กระจายเร็วขึ้นกว่าเดิม จำนวนผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่ตามมากับจำนวนผู้ป่วยคือสถานที่ในการรักษาที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาที่ผู้ป่วยจะต้องสำรองเงินใช้จ่ายเอง
แนวทางการรักษาในปัจจุบัน
โดยทั่วไปเมื่อมีอาการเจ็บป่วยและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หากอาการหนักหรือต้องเฝ้าดูอาการมักจะต้องนอนในโรงพยาบาลที่เข้ารับการตรวจ แต่ในกรณีผู้ป่วยโควิดจะมีแนวทางการนอนโรงพยาบาลที่หลากหลายกว่า เพราะจำนวนผู้ป่วยมีทุกวัน ซึ่งจะไปรวมกับจำนวนผู้ป่วยสะสมที่รักษาตัวอยู่ ทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ แนวทางการรักษาจึงแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
รักษาตัวในโรงพยาบาล
การรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อและต้องเข้ารับการรักษา โดยปกติหากพบเชื้อจากการตรวจกับทางโรงพยาบาลใด โรงพยาบาลนั้นจะต้องรับรักษาผู้ป่วยนั้น แต่จากปัญหาเตียงที่ไม่เพียงพอ จึงมีการประสานไปยังโรงพยาบาลสนาม ยกเว้นกรณีผู้ป่วยขอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่ออาจจะส่งไปรักษาที่ Hospitel แทน
รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม
โรงพยาบาลสนามเป็นการดัดแปลงสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นโรงพยาบาล โดยสถานที่นั้นจะต้องมีเตียงแยกออกเป็นสัดส่วน มักใช้โรงเรียน ศาลาในชุมชน ศูนย์กีฬาที่มีพื้นที่เพียงพอในการทำโรงพยาบาลสนาม เหมาะสำหรับการกักตัวผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง
รักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน
การรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation และการรักษาตัวในชุมชน Communication Isolation เป็นการรักษาตามอาการด้วยตนเอง โดยจะต้องเป็นผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง เชื้อไม่ลงปอด ผู้ป่วยจะได้รับยา อุปกรณ์สำหรับกักตัวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารแห้ง เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องวัดไข้ในช่วงที่กักตัว และต้องแยกตัวจากผู้อื่นโดยเด็ดขาดจนกว่าจะหายดี
การรักษาตัวของผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแตกต่างกันไป แต่หน่วยงานรัฐก็พยายามเข้ามาช่วยเรื่องค่ารักษาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างทั่วถึง ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้
เงินสำรองที่ควรมีในช่วงโควิด
ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องนอนโรงพยาบาลเพราะโควิด
ในช่วงที่โควิดระบาดและทุกคนมีโอกาสจะติด การเตรียมเงินฉุกเฉินเอาไว้จะช่วยให้การรักษาตัวง่ายดายมากยิ่งขึ้น โดยค่าใช้จ่ายที่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
- ค่าตรวจหาเชื้อ
การตรวจหาเชื้อปัจจุบันสามารถทำได้โดยการตรวจด้วยตนเอง Rapid Antigen Test และ Antigen Test Kit มีทั้งการแหย่จมูก (Swap) และการตรวจด้วยน้ำลาย
การตรวจอีกประเภทที่มีความแม่นยำกว่าคือการตรวจแบบ RT-PCR ที่ใช้น้ำยาตรวจจากห้องแล็บ นิยมตรวจเพื่อความมั่นใจในกรณีที่ตรวจผ่านชุดตรวจโควิดด้วยตนเองแล้วผลออกมาเป็นบวก การตรวจแบบ PCR จะช่วยยืนยันผลได้ชัดเจนขึ้น
- ค่าเดินทางไปกักตัว
เนื่องจากสถานการณ์เตียงเต็มในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลสนาม รวมถึงผู้ป่วยบางคนต้องกักตัวที่บ้าน บางคนต้องกลับไปกักตัวที่บ้านต่างจังหวัด เพราะมีโรงพยาบาลรองรับที่ไม่แออัดเท่ากรุงเทพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงต้องมีสำรองเอาไว้หากต้องเดินทางฉุกเฉิน
- ค่ายาและอาหาร
การเป็นผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลจะมีหน่วยงานรัฐประสานเรื่องค่าใช้จ่ายให้ ถึงแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนมักจะมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างจากเงินที่รัฐจ่ายให้ การมีเงินสำรองในส่วนของค่ายาและค่าอาหารจึงไม่ควรมองข้าม
- ค่ารักษาพยาบาล
เงินสำรองที่ควรมีมากที่สุดเป็นเงินสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาล ถึงแม้จะกล่าวว่าหน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบให้ แต่เพื่อความไม่ประมาทควรมีเงินสำรองสำหรับจ่ายค่าส่วนต่างในการรักษาเอาไว้ด้วยเช่นกัน
โควิดเป็นโรคระบาดที่ต้องมีการรักษาเร่งด่วน และฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ หรืออาจจะทำประกันภัยโควิดเอาไว้สำหรับจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ช่วยคลายความกังวลหากเจ็บป่วยขึ้นมาจริง ๆ
ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลเอกชน
โรงพยาบาลจะต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษาเมื่อตรวจพบเชื้อ สิ่งที่ผู้ป่วยกังวลจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษา ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกแถลงการณ์ว่าหากติดโควิดจะต้องได้รับการรักษาฟรี แม้เป็นโรงพยาบาลเอกชน สามารถแจงค่าใช้จ่ายที่ออกโดยภาครัฐได้ดังนี้
- ค่าตรวจโควิดแบบ RT-PCR จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินครั้งละ 1,600 บาท
- ค่าแล็บครั้งละ 100 บาท
- ค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจโควิดครั้งละ 600 บาท
- ค่ายาสำหรับผู้ป่วยในหรือผู้ป่วย IPD จะจ่ายตามจริง โดยไม่เกินครั้งละ 7,200 บาท
- ค่าห้องผู้ป่วยในจะจ่ายตามจริง โดยไม่เกินวันละ 2,500 บาท
- ค่ารักษาจากอาการโคม่า วันละ 5,000 บาท
- ค่าบริการ Hospitel จ่ายตามจริง โดยไม่เกินวันละ 1,500 บาท
- ค่าพาหนะในกรณีที่ต้องการกักตัวยังบ้านต่างจังหวัด
- ค่าอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น ครั้งละ 3,700 บาท
โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ สปสช. เชื่อว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาโควิดทั้งหมด หากมีการเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1330 ยกเว้นกรณีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด แต่เป็นไปเพื่อความสะดวกของผู้ป่วยเอง เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ตในห้องพัก ค่าอาหารที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลจัดให้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบเอง และอีกกรณีคือผู้ป่วยไม่ยินยอมให้ส่งตัวไปรักษาตามสถานที่ที่แพทย์เห็นสมควร แต่ร้องขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการ กรณีนี้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเองเช่นกัน แต่โดยภาพรวมค่ารักษาโควิดจะมุ่งให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
การระบาดของโควิดไม่มีทีท่าดีขึ้นจนกว่าประชาชนในประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ ที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ การฉีดวัคซีนเองก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้วัคซีน การทำประกันภัยวัคซีนโควิดเอาไว้จึงช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายหากแพ้วัคซีนขึ้นมา นอกจากนั้นในช่วงที่พักรักษาตัวอาจจะมีการสูญเสียรายได้เพราะขาดงานเพื่อรักษาตัว การมีประกันที่ชดเชยรายได้ในกรณีที่ต้องการความคุ้มครองที่นอกเหนือจากสวัสดิการบริษัทจึงเป็นเรื่องดี เช่น ประกันภัยสุขภาพ Owner Care ให้ความคุ้มครองทั้งการรักษา OPD และ IPD และชดเชยรายได้เมื่อต้องหยุดงาน ราคาเริ่มต้นเพียง 24 บาท/วัน แต่คุ้มครองสูงสุดถึง 1 ล้านบาท/ปี* หรือหากสนใจประกันภัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโควิดในช่วงนี้ สามารถปรึกษาฮักส์ได้ง่าย ๆ หลายช่องทาง ทั้ง Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล: กระทรวงสาธารณสุข, ประชาชาติ