ไขข้อสงสัย รักษาโควิดหายแล้ว ต้องกักตัวต่อหรือไม่
เขียนเมื่อวันที่ 07/09/2021
ตอบข้อสงสัย หายป่วยจากโควิด-19 แพร่เชื้อได้อีกหรือไม่
ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนต่างพยายามป้องกันอย่างเต็มกำลังไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่มีคนอีกกลุ่มที่โชคร้ายติดเชื้อและสุดท้ายเมื่อหายป่วยจากโควิด-19 ก็เกิดคำถามตามมามากมาย ทั้งตัวผู้ที่เคยป่วยเองและคนรอบตัวที่อาจยังกังวลและหวาดกลัวว่า ผู้ป่วยหลังรักษาโควิดหายแล้วสามารถแพร่เชื้อได้ไหม หรือรักษาโควิดหายแล้วจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ไหม นอกจากนี้ผู้ที่เคยป่วยโควิดควรปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เมื่อไหร่ ตามมาไขข้อสงสัยกัน
รักษาโควิด-19 กี่วันหาย ใช้ชีวิตปกติได้ไหม
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงเกณฑ์อนุญาตให้ผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากโรงพยาบาลไว้ ดังนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการ
สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการใด ๆ หรือที่เรียกกันว่า ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวนั้น อาจได้รักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) หรือรักษาตัวในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านเชื้อไวรัสอย่างยาฟาวิพิราเวียร์และอาจได้รับฟ้าทะลายโจรรวมถึงยาที่ใช้รักษาตามอาการป่วย อาทิ ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก หรือยาธาตุน้ำขาว เป็นต้น
รักษาโควิด-19 กี่วันหาย : ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวใช้เกณฑ์ประเมินอาการประมาณ 14 วัน นั่นคือเมื่อแยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ อาทิ ตรวจพบเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม แต่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ เลย หากนับตามระยะเวลา 14 วัน เท่ากับว่าผู้ป่วยรายนี้ถือว่าหายป่วยในวันที่ 23 สิงหาคม เว้นแต่มีอาการผิดปกติระหว่างรักษาตัว แล้วแพทย์ประเมินว่าต้องอยู่รักษาตัวต่อ
แต่สำหรับจังหวัดที่เตียงไม่พออาจให้อยู่ที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 7-10 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน เพื่อให้ครบ 14 วันตามเกณฑ์
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย
ป่วยโควิด-19 วัดระดับออกซิเจนในเลือด
ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง อาจเข้ารับการรักษาตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ อาทิ โรงพยาบาลสนาม เป็นเวลา 14 วันนับจากวันที่มีอาการ พร้อมทานยารักษาตามอาการที่เป็น
รักษาโควิด-19 กี่วันหาย : ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถือว่าหายป่วยและได้ออกจากสถานที่รัฐจัดให้เมื่อครบ 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ อาทิ ตรวจพบเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปรากฎว่า วันที่ 16 สิงหาคม เริ่มมีไข้สูงและน้ำมูก แพทย์ให้ทานยารักษาตามอาการ กระทั่งรักษาจนหายดี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เท่ากับว่า ผู้ป่วยสามารถออกจากสถานที่รัฐจัดให้ในวันที่ 30 สิงหาคม (นับจากวันที่มีอาการคือ 16 สิงหาคม ไปอีก 14 วัน จะตรงกับวันที่ 30 สิงหาคม)
อย่างไรก็ดี หากครบ 14 วันตามที่กำหนดแล้ว แต่ถ้ายังมีอาการป่วยอยู่ แพทย์อาจวินิจฉัยให้อยู่รักษาตัวต่อจนอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง แต่ในหวัดที่เตียงไม่พอ อาจให้อยู่ที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 7-10 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง
สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีแดงถือเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล บางรายอาจจะต้องรักษาตัวในห้อง ICU หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อประคองอาการจนกว่าจะหายป่วย ทั้งแพทย์พิจารณาให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านได้ โดยใช้หลักเกณฑ์นี้
- มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง
- อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกัน 24-48 ชั่วโมง
- อัตราการหายใจไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที
- ระดับออกซิเจนในเลือด มากกว่า 96% ขณะพัก
รักษาโควิด-19 กี่วันหาย : ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะออกจากโรงพยาบาลได้ต่อเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งระยะเวลาในการรักษาตัวแตกต่างกันออกไปตามอาการป่วย และหายป่วยแล้วยังต้องกักตัวต่อที่บ้านอย่างน้อย 21 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ก่อนออกจากโรงพยาบาล ต้องตรวจโควิด-19 อีกหรือไม่
ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Swab
เมื่อผู้ป่วย COVID-19 รักษาตัวหายและได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 อีก เพราะถึงรักษาหายแล้วผลตรวจหาเชื้อโควิดในร่างกายอาจยังเป็นบวกอยู่ เนื่องจากเชื้อที่ตายแล้วหรือซากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอาจยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย โดยบางคนมีซากสารพันธุกรรมดังกล่าวนานถึง 15-50 วัน แต่เชื้อที่ตายแล้วไม่สามารถเพิ่มปริมาณและแพร่ไปยังผู้อื่นได้
รักษาโควิดหายแล้ว เป็นซ้ำอีกได้หรือไม่
ภายหลังรักษา COVID-19 หาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เชื้อไวรัสได้ชั่วขณะหรือต้านทานได้ต่อเนื่อง ทว่าไม่อาจวางใจได้เพราะมีโอกาสป่วยโควิด-19 ซ้ำได้หากภูมิคุ้มกันลดลง ฉะนั้นแม้หายป่วยยังคงต้องปฏิบัติตัวตามมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
รักษาโควิด-19 หายแล้ว ต้องกักตัวต่อหรือไม่ มีโอกาสแพร่เชื้อไหม
สำหรับผู้ที่หายป่วยและได้ออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการรักษาจนครบ 14 วัน หรือกลับมากักตัวที่บ้านจนครบ 14 วันแล้ว ถือเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถแพร่เชื้อ COVID-19 แก่ผู้อื่นได้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแยกกักตัว สามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ
รักษาโควิดหายแล้ว ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกไหม
ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด-19
ตามแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคม 2564 ของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยแบ่งเป็นกรณี ดังนี้
- กรณีที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน หรือเคยฉีดมาแล้ว 1 เข็ม : สามารถฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้เพิ่มอีก 1 เข็ม ภายใน 1-3 เดือนหลังจากเริ่มป่วย
- กรณีที่ฉีดวัคซีนโควิด ครบ 2 เข็มแล้ว : ไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
- กรณีฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม : สามารถฉีดได้เช่นกัน แต่ควรเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อ 1-3 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว ยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันและควบคุม COVID-19 จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยุติ ทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้การมองหากรมธรรม์ประกันภัยโควิดเพื่อรับมือกรณีติดเชื้อโควิด-19 ช่วยให้คุณอุ่นใจยามเจ็บป่วย เพราะบริษัทประกันภัยเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และแผนประกันภัยไวรัสโคโรนาบางฉบับมอบเงินชดเชยรายได้จากการติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย หากคิดไม่ออกว่าควรเลือกประกันภัยวัคซีนโควิด หรือประกันภัยโควิดของที่ไหนดี ฮักส์ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ประกันภัย ยินดีให้คำแนะนำการเลือกทำประกันภัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ซื้อที่สุด สามารถติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855 เพราะทุกการเจ็บป่วยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งสิ้น
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, World Economic Forum, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข