เงินชดเชย กบข. คืออะไร กรณีเสียชีวิตได้เท่าไหร่
เขียนเมื่อวันที่ 27/10/2021
ออมเงินเพิ่ม กบข. เลยดีไหม เพื่อชีวิตหลังเกษียณ
หากกล่าวถึงความมั่นคงทางอาชีพการงานและสวัสดิการ เชื่อว่าหลายคนนึกถึงอาชีพข้าราชการแม้เงินเดือนเริ่มต้นอาจไม่สูงเท่าพนักงานบริษัทเอกชน แต่ก็เพียงพอให้ใช้จ่ายโดยไม่เดือดร้อน อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนให้ข้าราชการเก็บออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายยามเกษียณผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และวันนี้ Hugs Insurance ขอพาไปทำความรู้จักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ช่องทางการออมเงินที่ช่วยให้พนักงานข้าราชการอุ่นใจว่า แม้ต้องหยุดทำงานก็ยังมีเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่เดือดร้อน
ออมเงิน กบข. คืออะไร หักกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. เป็นกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ส่งเงินสะสมทุกเดือนในอัตรา 3% ของเงินเดือน และรัฐบาลสมทบเพิ่มอีก 3% ของเงินเดือน โดยการออมต่อเนื่องเช่นนี้ช่วยให้ข้าราชการมีเงินออมก้อนหนึ่งไว้ใช้ในยามเกษียณ นอกเหนือจากเงินบำนาญที่ได้รับจากกระทรวงการคลัง
ข้าราชการประเภทใดบ้าง ที่เป็นสมาชิก กบข.
สำหรับข้าราชการที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) ประกอบด้วย
(1) ข้าราชการพลเรือน
(2) ข้าราชการตุลาการ
(3) ข้าราชการอัยการ
(4) ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
(5) ข้าราชการครู
(6) ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
(7) ข้าราชการตำรวจ
(8) ข้าราชการทหาร
(9) ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
(10) ข้าราชการศาลปกครอง
(11) ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
(12) ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ออมเพิ่มกับ กบข. มีข้อดีอะไรบ้าง
- ระยะสั้น : สมาชิก กบข. ที่ออมเพิ่มจะได้รับการลดหย่อนภาษีในส่วนของเงินสะสมที่นำส่งเข้ากองทุนไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีดังกล่าว
- ระยะกลาง : เป็นการสร้างวินัยการออมเงินแก่สมาชิก กบข. เนื่องจากเงินเดือนของสมาชิกจะถูกหักเพื่อเข้ากองทุนโดยอัตโนมัติในทุก ๆ เดือน ทำให้หมดปัญหาใช้เงินหมดก่อนออม
- ระยะยาว : มั่นใจได้ว่ามีเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงวัยเกษียณมากขึ้น
เงินชดเชย คืออะไร ได้รับคืนเมื่อไหร่
เป็นเงินที่รัฐจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก กบข. ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ในอัตรา 2% ของเงินเดือน โดยกองทุน กบข. จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับแต่เกษียณอายุหรือลาออกจากราชการ แต่หากสมาชิก กบข. เสียชีวิตไม่ว่าจากอุบัติเหตุรถชนกันหรือปัญหาสุขภาพ ย่อมถือว่าพ้นจากสมาชิกภาพกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการเสียชีวิตระหว่างรับราชการเท่านั้น
ออมเงินเพิ่ม กบข. ไว้ใช้จ่ายช่วงวัยเกษียณ
เงิน กบข หลังเกษียณ ได้คืนเท่าไหร่
ในการคำนวณเงิน กบข. หลังเกษียณนั้น ต้องพิจารณาถึงเหตุที่ออกจากราชการ อายุราชการ รวมถึงการเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญจากกรมบัญชีกลาง และนี่คือวิธีคํานวณเงิน กบข. กรณีลาออกจากราชการตามปกติ
อายุราชการไม่ถึง 10 ปี
- เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์
อายุราชการ 10 ปี แต่ไม่ถึง 25 ปี
- เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์
อายุราชการ 25 ปีขึ้นไป
- กรณีเลือกรับบำนาญ เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินประเดิม (ถ้ามี) + เงินชดเชย + เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์
- กรณีเลือกรับบำเหน็จ เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์
เงินชดเชย กบข. กรณีเสียชีวิตได้เท่าไหร่
สำหรับกรณีที่สมาชิก กบข. เสียชีวิตระหว่างรับราชการนั้น เงินออมของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการถูกโอนไปให้ทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาตรา 58 โดยรายละเอียดในการจ่ายบําเหน็จตกทอดแก่ทายาทของสมาชิกหรือผู้รับบํานาญมีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) บุตรให้ได้รับสองส่วน ถ้าสมาชิกผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง หรือบุตรบุญธรรม)
(2) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน
(3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน
อย่างไรก็ดี เงินบำนาญและเงินที่จะได้รับจาก กบข. อาจยังไม่เพียงพอ การหาช่องทางออมเงินเพิ่มควบคู่กันไป เช่น ลงทุนหุ้น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ออมเงินผ่านประกันชีวิต หรือทำประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเรื่องค่าใช้จ่ายหากมีปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคต แต่หากไม่รู้ว่าควรเลือกซื้อประกันภัยสุขภาพแบบไหนดีถึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ฮักส์ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ประกันภัยขอแนะนำประกันภัยอุ่นใจรักษ์โกลด์ ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 5,000,000 บาท/ครั้ง/โรค ไม่ว่าจะเจ็บป่วยกี่ครั้งก็สามารถเข้ารับการรักษาได้หากเป็นโรคที่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ สามารถติดต่อฮักส์ได้ทั้ง Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539