ติดโควิด ประกันชดเชยรายได้ จ่ายเท่าไหร่ สูงสุดกี่วัน?
เขียนเมื่อวันที่ 07/09/2021
ประกันชดเชยรายได้ COVID-19 เคลมได้ทุกกรณีหรือไม่
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่มีทีท่าจะห่างเราไปไหน หลายคนที่มีประกันภัยสุขภาพติดไว้แล้ว ก็มีอาการลังเลคิดทำประกันภัยโควิดเพิ่มเติมเพื่อให้อุ่นใจ เพราะการมีกรมธรรม์หลากหลายแบบ ช่วยให้มั่นใจได้ว่ายามเจ็บป่วยในอนาคตมีบริษัทประกันภัยเข้ามาช่วยดูแลทั้งค่าห้อง ค่ายา ค่าแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากนี้แผนประกันภัยโควิด-19 ในปัจจุบันมีรูปแบบความคุ้มครองให้เลือกมากมาย แต่ที่คนสนใจกันมากก็คือ ประกันภัย COVID-19 ที่มีความคุ้มครองค่าชดเชยรายได้ระหว่างนอนโรงพยาบาล
ประกันชดเชยรายได้ ดีไหม
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดที่มีความคุ้มครองค่าชดเชยรายได้ ระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีข้อดีไม่น้อยกว่าความคุ้มครองรูปแบบอื่น ไม่ว่าผู้ทำประกันภัยจะเป็นพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือพ่อค้าแม่ค้า หากเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลด้วยโรค COVID-19 ได้รับการชดเชยรายได้เหมือนกันสิทธิประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีรายได้จากการทำงานขณะป่วย
ผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้าน เคลมประกันชดเชยรายได้ ได้หรือไม่
หลังเกิดภาวะเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่เพียงพอ รัฐบาลได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้วิกฤติขาดแคลนเตียงผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม หรือออกมาตรการรักษาผู้ป่วยโควิดแบบใหม่ อย่าง Home Isolation (การกักตัวที่บ้าน) หรือ Community Isolation (การกักตัวในชุมชน) เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงได้เข้าถึงการรักษา
และที่ผ่านมา บริษัทฯ ที่รับประกันภัยโควิดอนุโลมจ่ายในส่วนของค่ายา, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าอาหาร, ค่าอุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ ไปจนถึงค่าเอกซเรย์ปอดเหมือนกรณีการรักษาตัวของผู้ป่วยนอก (OPD) แม้เข้ารับการรักษาใน Hospitel โรงพยาบาลสนาม Home Isolation และ Community Isolation ต่อมาเพื่อให้ผู้ทำประกันภัยสามารถเคลมค่าชดเชยรายวัน หรือค่าชดเชยรายได้ตามแผนกรมธรรม์ที่เลือกไว้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกคำสั่งให้ขยายความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด-19 เคลมค่าชดเชยรายได้จากบริษัทฯ ได้ตามผลประโยชน์ในกรมธรรม์
ประกันภัยโควิด-19 จ่ายชดเชยรายได้สูงสุดกี่วัน
สำหรับกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น สามารถแบ่งการจ่ายเงินชดเชยรายได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีมีสถานพยาบาลรองรับ
เมื่อผู้ทำประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการ RT-PCR และต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรม บริษัทฯ จะจ่ายเงินชดเชยรายได้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัยนับจากวันแรกที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนวันที่ระบุไว้
กรณีรับการรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation
สำหรับกรณีนี้บริษัทฯ จะจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ทำประกันภัยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยมอบเงินชดเชยรายได้ สูงสุด 14 วัน นับตั้งแต่วันที่แพทย์ผู้รักษาลงความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
เคลมประกันชดเชยรายได้ ต้องใช้เอกสารอะไร
การกรอกแบบฟอร์มเรียกร้องสินไหม เคลมประกันชดเชยรายได้
เอกสารที่ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องตระเตรียมให้พร้อมหลังหายป่วยแล้ว เพื่อยื่นขอเบิกเงินชดเชยรายได้เนื่องจากการรักษาตัวด้วยการติดเชื้อ COVID-19
(1) กรอกแบบฟอร์มเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์บริษัทประกันที่ได้ทำการเลือกซื้อไว้
(2) ใบรายงานแพทย์ที่ระบุอาการสำคัญ ผลการวินิจฉัยโรคและการรักษา พร้อมประทับตราโรงพยาบาล และใบรับรองแพทย์ฉบับจริง
(3) ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากห้องปฏิบัติการ (Lab Test) ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือโรงพยาบาลในประเทศไทยฉบับจริง
(4) เอกสารอื่น ๆ อาทิ สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหน้าบัญชีธนาคารของผู้ทำประกันภัย
โควิด-19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทุกคนมีความเสี่ยงในการรับเชื้อทั้งสิ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมหากต้องเข้ารับการรักษาด้วยประกันภัยโควิด ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยง พร้อมมอบความคุ้มครองที่ครอบคลุม อย่างประกันภัยสุขภาพ Officer Care ซึ่งให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั้ง OPD และ IPD พร้อมมอบเงินชดเชยรายได้กรณีที่ไม่เบิกค่าใช้จ่าย IPD นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสวัสดิการของบริษัทหรือประกันภัยสุขภาพตัวอื่น ๆ คุ้มครอง IPD อยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ที่สนใจแต่ไม่รู้ว่าควรเลือกซื้อประกันชดเชยรายได้ที่ไหนดี สามารถปรึกษาฮักส์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ต้องการผ่านช่องทาง Facebook Line และโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย