7 โรคอุบัติใหม่ที่ต้องระวัง เสี่ยงเกิดได้กับคนทุกวัย
เขียนเมื่อวันที่ 09/08/2021
ไม่ประมาทเรื่องสุขภาพ รู้เท่าทันโรคอุบัติใหม่พร้อมวิธีรับมือ
โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แม้ดูแลสุขภาพดีอยู่เสมอก็มีโอกาสป่วยได้ โดยเฉพาะกับโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลก ซึ่งร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือวิธีป้องกันที่แน่นอนมาก่อน โอกาสป่วยจึงสูงกว่าโรคตามฤดูกาลทั่วไป เช่น โรคประจำฤดูร้อน การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่จะช่วยให้การเตรียมตัวรับมือได้ดียิ่งขึ้น
นิยามของโรคอุบัติใหม่
โรคอุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) คือ โรคที่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถหาแนวทางการรักษาหรือป้องกันได้ล่วงหน้า เพราะเป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้น โรคอุบัติใหม่นี้อาจจะเป็นเชื้อไวรัสใหม่ที่เป็นตัวแพร่เชื้อ หรือเป็นเชื้อไวรัสเดิมที่มีการกลายพันธุ์และส่งผลกระทบต่อร่างกาย จนยาหรือการรักษาแบบเดิมใช้ไม่ได้ผล โรคอุบัติใหม่สามารถแบ่งตามประเภทของการเกิดโรคได้ดังนี้
- โรคติดต่อจากเชื้อใหม่
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสใหม่ หรือเชื้อไวรัสเดิมที่กลายพันธุ์จนมีรหัสพันธุกรรมใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคใหม่ขึ้นมา เช่น โรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเชื้อไวรัสนี้เป็นต้นแบบของโรคซาส์และเมอร์สมาก่อน แต่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เป็นเชื้อใหม่ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจึงไม่ใช่รหัสพันธุกรรมเดียวกับโรคซาส์และเมอร์ส กลายเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่าโรคโควิด-19 แทน
- โรคติดต่อในพื้นที่ใหม่
เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วเกิดการแพร่ระบาดโรคเดียวกันแต่เปลี่ยนพื้นที่ เช่น โรคซาส์ที่ต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน แต่เกิดการระบาดในพื้นที่อื่น ๆ เป็นวงกว้างกว่า 26 ประเทศและต่างทวีปกัน
- โรคจากการดื้อยา
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดิมที่สามารถหาวิธีการรักษาได้แล้วแต่เกิดการดื้อยา ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการเดิม ถือเป็นโรคอุบัติใหม่อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถพบเจอได้ เช่น วัณโรคดื้อยา บ้างเรียกว่าเป็นโรคอุบัติซ้ำ
- โรคที่เกิดจากอาวุธชีวภาพ
เป็นโรคที่เกิดจากการทดลองของมนุษย์เพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ซึ่งมีบางโรคที่คาดการณ์ว่าอาจเป็นอาวุธชีวภาพ เช่น โรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ที่เคยมีการตรวจพบขวดทดลองบรรจุเชื้อ ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษขึ้น แต่ยังคงไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าไข้ทรพิษเป็นโรคทางอาวุธชีวภาพหรือไม่
นอกจากโรคอุบัติใหม่แล้ว ยังมีโรคอุบัติซ้ำที่ใช้เรียกโรคที่เคยแพร่ระบาดมาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วมีการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง หรือเป็นโรคที่เคยระบาดหนักแต่เชื้อโรคเกิดดื้อยาขึ้นมา ทำให้ต้องมีแนวทางการรักษาใหม่ ทั้งโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำล้วนเป็นโรคระบาดที่เคยสร้างความวิตกกังวลมาก่อน การติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเกิดการระบาดจริง
ตัวอย่าง 7 โรคอุบัติใหม่ที่ควรรู้
โรคอุบัติใหม่มีหลายอาการต่างกันตามเชื้อไวรัส
ปัจจุบันยังคงพบเห็นโรคที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่บ้างเป็นครั้งคราว ตัวอย่างโรคอุบัติใหม่ที่ได้รับความสนใจ เช่น
- โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (Influenza: H1N1)
พบการระบาดเป็นปกติในช่วงฤดูฝน แต่ในปี พ.ศ. 2552 กลับพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์ A หรือ H1N1 ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ก่อน พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ ทำให้ไข้หวัดใหญ่กลายเป็นโรคประจำฤดูกาลไป
- โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza: H5N1)
เป็นโรคที่พบการระบาดในสัตว์ปีก เช่น ไก่ นก เป็ด สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เพียงแค่พบในสัตว์ปีกเท่านั้น เกิดการระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2546 มีสัตว์ปีกตายเป็นจำนวนมาก และแพร่ระบาดจากการขนส่งสัตว์ปีกไปทั่วโลก ปัจจุบันยังคงพบการติดเชื้อไข้หวัดนกอยู่แต่พบได้น้อย และมีการป้องกันสัตว์ปีกค่อนข้างดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
- โรคมือ เท้า ปาก (HAND, FOOT AND MOUTH DISEASE: HFMD)
เป็นโรคที่พบการระบาดในเอเชีย โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มักเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ พบการระบาดครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2540 ลักษณะอาการคือมีตุ่มขึ้นบริเวณมือ เท้า และปาก คล้ายโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่คอยดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อลดการระบาดของโรคและทำให้อัตราการระบาดในปัจจุบันถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมาก
- โรคอีโบลา (Ebola Virus Disease)
พบครั้งแรกในประเทศคองโกใกล้กับแม่น้ำอีโบลา ในปี พ.ศ. 2519 เป็นโรคติดต่อที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และระบาดเข้าสู่สหราชอาณาจักรรวมถึงสเปนด้วย สำหรับประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้ออีโบลา และการแพร่ระบาดทั่วโลกของอีโบลาในตอนนี้ถือว่าต่ำ จัดอยู่ในประเภทไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง
- โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS)
โรคที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไข้หวัดที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของโลก ได้รับการขนานนามว่าโรคปอดบวมนอกรูปแบบ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นปอดบวมชนิดใดในขณะนั้น เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในประเทศจีนและกระจายไปในหลาย ๆ ประเทศ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด หายใจไม่ออก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับโรคเมอร์สและโควิด-19 แต่แยกสายพันธุ์ออกมาใหม่กลายเป็นโรคซาร์ส ปัจจุบันพบการระบาดน้อยลงและอาการไม่รุนแรงเท่าตอนเริ่มระบาด
- โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS)
พบการระบาดครั้งแรกในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยในช่วงแรกได้รับการรายงานว่าเป็นปอดบวมแต่ไม่สามารถรักษาได้ ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่พัฒนามาจากไวรัสชนิดเดียวกับโรคซาร์ส ถูกเรียกว่าไวรัสโคโรนา 2012 พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่เดินทางมาจากประเทศโอมาน แต่ประเทศไทยสามารถคุมการระบาดได้
- โรคโควิด-19
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับโรคเมอร์สและโรคซาร์ส แต่พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า พบการระบาดตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และระบาดไปทั่วโลก มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดอีกหลายครั้ง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิดที่ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ แต่ยังคงมีการวิจัยหาแนวทางรักษาโรคต่อไป
แนวทางการจัดการโรคอุบัติใหม่
โรคอุบัติใหม่มีหลายโรคที่เคยเกิดขึ้น และมีโรคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างโควิด-19 ในอนาคตก็จะมีโรคอุบัติใหม่หรืออาจจะเป็นโรคอุบัติซ้ำเกิดขึ้นได้อีก การจะบอกว่าโรคอุบัติใหม่มีอะไรบ้างจึงทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการวางแนวทางเมื่อเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ตามวิธีการ ดังนี้
- แจ้งประชาชนให้ทราบถึงการระบาดในทันที และบอกวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้น เช่น งดการสัมผัสผู้ที่มีอาการป่วย งดออกจากบ้านชั่วคราว หรือรับประทานเฉพาะอาหารปรุงสุก
- จัดตั้งที่ปรึกษาสำหรับให้คำแนะนำเรื่องโรคระบาดและแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ปรึกษานี้จะรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบาดเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลต่อสถานการณ์การระบาดที่กำลังเกิดขึ้น
- ให้ความรู้ประชาชนในทุกช่องทางที่สามารถทำได้เมื่อมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตัวช่วงการแพร่ระบาด
- แยกผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ออกมา จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและพื้นที่รองรับเพื่อเฝ้าดูอาการและหาแนวทางการรักษาที่ยั่งยืน
โรคอุบัติใหม่มีความน่ากลัวที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และยังไม่มีแนวทางรักษาในทันที ต้องใช้เวลาในการวิจัยเกี่ยวกับโรค การทำประกันภัยสุขภาพไว้จึงช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้อีกระดับ เพราะหากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกจะได้ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก เช่นในปัจจุบันที่โควิด-19 ระบาด ประกันภัยโควิดจึงได้รับความนิยม โดยเฉพาะแบบเจอ จ่าย จบ iSafe ของทูนประกันภัย ที่จ่าย 10,000 บาทเมื่อตรวจพบโควิด-19 พร้อมค่ารักษาพยาบาลเมื่อโคม่าสูงสุดถึง 300,000 บาท/ปี* ผู้ที่มองหาประกันภัยโควิดสามารถเลือกซื้อได้ หรือจะปรึกษาฮักส์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ต้องการก่อนก็ได้ สามารถติดต่อได้ทั้ง Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855