ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
เขียนเมื่อวันที่ 20/07/2021
โรคอ้วน ภัยร้ายที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
โรคอ้วนถือเป็นภัยร้ายในลำดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพถึงขั้นเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต โดยสสส.-เครือข่ายคนไทยไร้พุงพบว่าคนไทยอ้วนลงพุงกว่า 20 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต มีรสเค็มจัด หรือน้ำตาลมากเกินไป รวมถึงการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ไม่ออกกำลังกาย หรือร่างกายมีระบบเผาผลาญที่ผิดปกติ และเมื่ออายุมากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพในการเผาผลาญของร่างกายลดน้อยลง รวมถึงมาจากความเครียด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ความอ้วนนอกจากมีผลต่อการดำเนินชีวิตแล้ว ยังมาพร้อมโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ความอ้วนจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป
ภาวะแทรกซ้อน อันตรายจากความอ้วน มีอะไรบ้าง
โรคแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับโรคอ้วนมีทั้งแบบที่แสดงอาการชัดเจนและไม่แสดงอาการ แต่ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต มีดังนี้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก เนื่องจากมีการอุดกั้นในทางเดินหายใจตอนนอน ทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ โดยสาเหตุภาวะหยุดหายใจขณะหลับส่วนใหญ่มาลักษณะกายวิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ส่งผลให้ผนังลำคอหนาและหดสั้น ทำให้ช่องลำคอก็แคบตามไปด้วย ซึ่งหากอาการรุนแรงมากอาจทำให้หยุดหายใจได้เลย
โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากระดับไขมันคอเลสเตอรอล และไขมันสะสมในร่างกายสูงกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดหนาขึ้น ส่วนหลอดเลือดแดงตีบแคบ เป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนได้น้อย และเกิดหลอดเลือดอุดตัน มีส่วนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งถือเป็นโรคที่คนอ้วนเสี่ยงเป็นมากที่สุด
โรคเบาหวาน
เบาหวานถือเป็นอีกโรคในลำดับต้น ๆ ที่เกิดกับผู้มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน โดยสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานมาจากตับอ่อนที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อระดับอินซูลินในร่างกายมาก อาทิ
- ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ตับอ่อนผลิตสารอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน
และเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นอกเหนือจากโรคเบาหวาน อย่าง ต้อกระจกจากเบาหวาน ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคผิวหนัง เป็นต้น
ไขมันพอกตับ
เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ เนื่องจากทานอาหารจำพวก แป้ง น้ำตาล หรือมีไขมันสูง จึงไม่แปลกที่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วนจะมีโรคไขมันพอกตับร่วมอยู่ด้วย
โรคข้อเสื่อม
เป็นโรคที่เกิดจากผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบกลายเป็นผิวขรุขระ ทำให้มีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาพักการใช้ข้อนาน ๆ เมื่อเป็นมากขึ้นก็นำไปสู่อาการเจ็บปวดเวลาเดินหรือยืนเยอะ ๆ และยิ่งในกลุ่มผู้เป็นโรคอ้วนก็มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ที่สำคัญยิ่งน้ำหนักตัวเยอะแรงกดที่ข้อเข่าก็ยิ่งมากขึ้น
โรคกรดไหลย้อน
เกิดจากผู้ป่วยโรคอ้วนมีความดันในช่องท้อง และความดันในกระเพาะอาหารสูง ส่งผลให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยไหลทวนย้อนกลับเข้าหลอดอาหาร
ประจำเดือนมาไม่ปกติ
เนื่องจากผิวหนังของผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากหรือมีภาวะของโรคอ้วนเปลี่ยนเซลล์ไขมันเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH จึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ไอ จาม ปัสสาวะเล็ด
สาเหตุเกิดจากบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่พยุงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้เวลาไอหรือจาม ท่อปัสสาวะมีการเปิดตัวจนทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมา
แนะวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วน
ทานผักและผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับการป้องกันตัวเองจากโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ได้มีแค่หันมาใส่ใจสุขภาพเท่านั้น ยังมีข้อควรปฏิบัติเพื่อรับมือโรคอ้วน ดังนี้
(1) ควบคุมอาหารให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจเน้นรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อเพิ่มวิตามิน เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์แก่ร่างกาย
(2) ไม่ทานอาหารประเภททอดมากเกินไป แนะนำให้ทำอาหารด้วยวิธีนึ่ง ต้ม หรือย่างสลับกันไป
(3) ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและแอลกอฮอล์สูง
(4) ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพราะน้ำเปล่ามีส่วนช่วยขับสารพิษและรักษาสมดุล รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกาย
(5) ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเบิร์นไขมันในร่างกาย นอกจากนี้การขยับแขนขา ทำท่ากายบริหารแบบง่าย ๆ ก็มีส่วนช่วยได้เช่นกัน
(6) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การพักผ่อน คือเวลา 22.00-06.00 น. เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
สำหรับใครที่อยากห่างไกลจากโรคอ้วน ควรหันมาใส่ใจและหมั่นดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีน้ำหนักเกินเกณฑ์แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมหาแนวทางและวิธีการลดน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราตรวจพบโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ทั้งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
และเพื่อสร้างความอุ่นใจยามเจ็บป่วยว่าค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งจะไม่ก่อหนี้ก้อนใหญ่ ฮักส์มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพให้เลือกมากมาย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2975 5855 เราพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อให้คุณได้แผนประกันภัยที่ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : bangkokhospital