สรรพคุณยาฟาวิพิราเวียร์ ต้านไวรัสโควิด-19
เขียนเมื่อวันที่ 25/08/2021
Favipiravir ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยโควิด-19
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤต ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นต่อวัน เป็นเหตุให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประกอบกับเมื่อคัดกรองพบว่า ผู้ติดเชื้อบางคนมีอาการไม่รุนแรง อาจอยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน และเพื่อแก้ปัญหาการรอเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ ภาครัฐเริ่มใช้ระบบ Home Isolation กับ Community Isolation ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านระหว่างรอเตียง พร้อมจัดให้มีบุคลากรทางการแพทย์คอยติดตามอาการและให้คำปรึกษาตลอดระยะเวลาที่ Home Isolation รวมถึงให้ยาที่ใช้ในการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะ "ฟาวิพิราเวียร์" ยาที่ใช้ในการรักษาโรค COVID-19 ซึ่งแพทย์ไม่ได้จ่ายชนิดนี้ให้กับผู้ป่วยโควิดทุกคน เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาของเชื้อไวรัสได้ แต่จะสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัว และวันนี้ฮักส์จะพาไปหาคำตอบกันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีวิธีกินยังไง มีผลข้างเคียงหรือไม่
ทำความรู้จักยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์ คือ ยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยตามแนวทางการดูแลรักษา COVID-19 ของประเทศไทย ที่ช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโควิด-19 เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์ออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้
ไขข้อสงสัย เหตุใดไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยโควิดทุกคน
เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการที่ยืนยัน ถึงประโยชน์ของการให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการหรือใช้เพื่อป้องกันโรค ประกอบกับไวรัส COVID-19 ปรับตัวได้เร็วส่งผลให้เกิดกลายพันธุ์ อย่างโควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ), สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่กำลังแพร่บาดอยู่ในไทย หากจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ อาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาของเชื้อไวรัส ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ฉะนั้นแพทย์จึงไม่จ่ายยาให้สำหรับผู้ป่วยทุกคน แต่จะจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่มีอาการและแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ควรทานยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค
ยาฟาวิพิราเวียร์เหมาะกับใคร
แพทย์พิจารณาเริ่มจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ดังนี้
- อายุมากกว่า 60 ปี
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ประเมินของแพทย์ อาทิ ผู้ป่วยระดับสีเขียวที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่น และเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค เนื่องจากมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ
วิธีทานยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์ควรทานตามคำแนะนำของแพทย์
- สำหรับผู้ใหญ่ ทานยาฟาวิพิราเวียร์ ครั้งละ 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง ในวันที่เหลือ
- ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ในวันแรกให้ทานยา ครั้งละ 12 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง ในวันที่เหลือ
- สำหรับเด็กให้คำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว
ทั้งนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ควรทานยา Favipiravir ตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
ยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลข้างเคียงหรือไม่
(1) อาการคลื่นไส้อาเจียน
(2) อาจมีอาการท้องเสีย
(3) มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
(4) มีผลต่อการทำงานของตับ
(5) อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยา ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ
ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาทานเอง เพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่สำคัญยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
สำหรับใครที่วางแผนเสริมความปลอดภัยให้กับตัวเองและคนที่คุณรัก ผ่านการสมัครผลิตภัณฑ์ประกันภัย Hugs Insurance Broker ยินดีเป็นผู้ช่วยให้คุณตามหาประกันภัยสุขภาพ ประกันภัยโควิด และประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคุณ สามารถโทรปรึกษาฮักส์ได้ที่ 0 2975 5855 หรือผ่านช่องทาง Line และ Facebook
อ้างอิงข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข