เตรียมความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ป้องกันผลข้างเคียง
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
ก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องเตรียมพร้อมแค่ไหน
ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีคลัสเตอร์โควิด-19 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเริ่มกังวลไม่กล้าออกจากบ้านหรือเดินทางไปในที่มีผู้คนพลุกพล่าน ขณะที่ภาครัฐเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด แต่ข่าวคราวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้คนลังเลและเกิดคำถามขึ้นมามากมายในใจว่า ก่อนฉีดวัคซีนต้องทำอะไรบ้าง หรือควรตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ โดยวันนี้เรามีข้อแนะนำการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น Sinovac, AstraZeneca, Pfizer, Moderna หรือ Sinopharm มาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้คลายความกังวลและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
วัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มฉีดในประเทศไทย มีชนิดไหนบ้าง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ใช้ในประเทศไทยได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉิน รวม 5 ยี่ห้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) วัคซีน AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) นำเข้าโดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564
(2) วัคซีน Sinovac (ซิโนแวค) หรือ วัคซีนโคโรนาแวค นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
(3) วัคซีน Johnson & Johnson (จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน) นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น - ซีแลก จำกัด มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564
(4) วัคซีน Moderna (โมเดอร์นา) นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
(5) วัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564
แม้มีวัคซีนโควิดขึ้นทะเบียนในไทยมากถึง 5 ยี่ห้อ แต่ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ฉีดให้ประชาชนมีเพียงวัคซีน Sinovac วัคซีน AstraZeneca และวัคซีน Sinopharm ล็อตแรก จำนวน 1,000,000 โดส ที่เพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 โดยคาดการณ์ว่า ในวันที่ 25 มิถุนายน สามารถเริ่มฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มวันแรกพร้อมกันทั่วประเทศ
ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตัวไหนดี
วัคซีน COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ยี่ห้ออะไร ล้วนมีประโยชน์เหมือน ๆ กัน นั่นคือช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 เพื่อลดการเจ็บป่วย การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล การเสียชีวิต และการแพร่เชื้อ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนโควิดไม่ว่าเป็นตัวไหน ล้วนส่งผลดีต่อผู้ได้รับวัคซีนทั้งสิ้น
ควรตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่
การตรวจสุขภาพช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนได้ดีขึ้นเพราะรู้ล่วงหน้าว่าผู้ที่กำลังเตรียมตัวฉีดวัคซีนนั้นมีโรคร้ายแฝงในตัวหรือไม่ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาโรคที่ยังไม่แสดงอาการ และมีเวลาเตรียมความพร้อมให้แข็งแรง ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย
ข้อแนะนําก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19
ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
(1) ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี (ประมาณ 3-5 แก้ว) และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้วัคซีนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
(2) ช่วง 2 วันก่อนการฉีดวัคซีน งดการออกกำลังกาย หรือการทำงานที่ต้องใช้ร่างกายหนัก
(3) ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ได้ตามปกติ แต่งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในวันที่มาฉีดวัคซีน
(4) สวมเสื้อที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีน
(5) ควรทานอาหารก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
(6) หากมีโรคประจำตัวหรือยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ต้องปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
(7) ผู้มีโรคความดันโลหิตสูงให้ทานยาที่รักษาความดันโลหิตก่อนมารับวัคซีน
(8) ผู้ที่ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดให้ทานยาได้ตามปกติและแจ้งพยาบาลทราบว่าท่านรับประทานยาชนิดใด เพื่อพิจารณาว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
(9) ต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นไข้ หากมีอาการดังกล่าวต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป 1-2 สัปดาห์
(10) ผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องทานยากดภูมิ ยาเคมีบำบัด หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรขอใบรับรองแพทย์ที่ทำการรักษาว่าสามารถรับวัคซีนได้และนำมาในวันที่ฉีดวัคซีน
(11) การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
(12) เตรียมแผนรองรับที่ดีเพื่อรับความเสี่ยงในกรณีการแพ้วัคซีน อาทิ การเลือกซื้อประกันภัยแพ้วัคซีนและประกันภัยโควิด
หลังได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ควรนั่งพักที่โรงพยาบาลหรือจุดที่ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้วัคซีนโควิดก่อนกลับบ้าน และเมื่อกลับบ้านยังต้องสังเกตอาการต่ออีกประมาณ 48-72 ชั่วโมง เพราะบางรายอาจพบผลข้างเคียงเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ อาทิ มีอาการปวด บวมบริเวณที่ฉีด และผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง อย่าง มีไข้ต่ำ ๆ หรือปวดเมื่อยมากจนทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ควรกลับไปที่โรงพยาบาล หรือโทร 1669 เพื่อประเมินอาการทันที
สำหรับใครที่อยากวางแผนความปลอดภัยให้กับตัวเองและคนที่คุณรัก Hugs Insurance Broker ยินดีเป็นผู้ช่วยให้คุณตามหาประกันภัยสุขภาพ ประกันภัยโควิด และประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ สามารถโทรปรึกษาฮักส์ได้ที่ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์