วิธีเลือกเครื่องวัดออกซิเจนคุณภาพดี ไร้ปัญหาการใช้งาน
เขียนเมื่อวันที่ 21/09/2021
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีประโยชน์ยังไง ในยุคโควิด-19
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ยังพบยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นกว่าราย ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข และภาคประชาชนต้องทำงานหนักขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนต่างเพิ่มความระมัดระวังตัวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและรักษาโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ทิชชูเปียกฆ่าเชื้อโรค ปรอทวัดไข้ ยาสามัญประจำบ้าน อาหารเสริม และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อีกหนึ่งไอเทมจำเป็นในยุคโควิด-19 เพื่อคอยตรวจเช็คอาการว่ามีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำหรือไม่
สำหรับใครที่กำลังมองหาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วติดบ้านไว้สักเครื่อง แต่ไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้อแบบไหนที่มีความแม่นยำ และวิธีวัดค่าต้องดูยังไง วันนี้ Hugs Insurance รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว
ประโยชน์ของเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วหรือเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลายคนใช้เพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการโควิด-19 เนื่องจากเครื่องวัดออกซิเจนบอกได้ว่าปอดของเราได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้วหรือยัง ประกอบกับที่ผ่านมามีผู้ป่วยโควิดหลายรายมีอาการไม่รุนแรงจึงเลือกรักษาตัวแบบ Home isolation หรือแยกกักตัวที่บ้าน ปรากฏว่าผู้ป่วยบางรายเริ่มมีอาการหนักขึ้นจากสีเขียว เป็นเหลือง เป็นแดงแล้วเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการไม่นาน ฉะนั้นการมีเครื่องมือไว้ตรวจสอบความผิดปกติที่แฝงอยู่ภายใน เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วก็ช่วยให้สังเกตเห็นความผิดปกติจากระดับค่าออกซิเจนในเลือด หากมีภาวะออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 90% ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีหลักการทำงานอย่างไร
สำหรับใครที่สงสัยว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีวิธีใช้ยังไง คำตอบคือมีหลักการใช้งาน 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
เมื่อหนีบตัวเครื่องไว้ที่บริเวณปลายนิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่ง ด้านบนของที่วัดออกซิเจนปลายนิ้วจะปล่อยรังสีที่มีสีแดงลงมาที่ช่องด้านล่างของเครื่องวัด
ขั้นตอนที่ 2
จากนั้นแสงสีแดงเริ่มตรวจจับค่าออกซิเจนในเลือดแล้วประมวลผล ก่อนแสดงผลตรวจที่หน้าจอของตัวเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
แต่ทั้งนี้ก่อนเริ่มต้นใช้งานเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ควรปฏิบัติตัวตามนี้
(1) นั่งพักประมาณ 2-3 นาที หรืออาจนานกว่านั้น ก่อนวัดออกซิเจนในเลือด เนื่องจากใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วไม่ควรมีอาการเหนื่อยหอบ
(2) ควรตรวจขณะที่มืออุ่น ถ้ามือเย็นอาจวัดค่าออกซิเจนได้ต่ำ ดังนั้นก่อนตรวจต้องทำให้มืออุ่นก่อนเสมอ
(3) ระหว่างวัดค่าออกซิเจนในเลือดให้หายใจเข้าออกลึก ๆ 2-3 ครั้ง ทั้งต้องวางมือนิ่งเพื่อรอผลตรวจ
(4) สลับนิ้วและตรวจซ้ำด้วย เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำมากขึ้น
(5) เมื่อเครื่องวัดค่าออกซิเจนโชว์ผลตรวจที่หน้าจอ ให้รอประมาณ 30 วินาที เพื่อดูว่าตัวเลขนิ่งหรือยัง หากตัวเลขที่ขึ้นนิ่งนั่นคือผลออกซิเจนในเลือดของคุณ
ระดับออกซิเจนในเลือด ควรอยู่ที่เท่าไหร่
ค่าออกซิเจนในเลือด เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วควรอยู่ที่ 95% ขึ้นไป ถือว่าค่าออกซิเจนในเลือดปกติดี และระดับออกซิเจนในเลือดที่ควรต้องกังวล คือ
- 90 - 94% ให้ระมัดระวังอาการผิดปกติ
- น้อยกว่า 90% มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีการเลือกซื้อเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด
(1) พิจารณาจากแบรนด์ผู้ผลิต
ผู้ที่สนใจเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วสามารถเข้าไปดูรายชื่อแบรนด์ หรือยี่ห้อเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้วที่ได้รับการอนุญาตผลิต และนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ
โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2564 มีเครื่องวัดออกซิเจนที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. รวมทั้งสิ้น 91 รายการ อาทิ
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว Microlife
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว Yuwell
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว SEKURE
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว Pulse Oximeter
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว BlueDot ฯลฯ
(2) หน้าจอแสดงผล
การเลือกซื้อเครื่องวัดออกซิเจนที่ใช้หน้าจอแสดงผลแบบ OLED ทำให้คุณมองเห็นตัวเลขได้ตลอดทุกช่วงเวลาแม้อยู่ในที่มีแสงน้อยก็ตาม
(3) มีฟังก์ชันเสริม
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วหลาย ๆ ยี่ห้อมาพร้อมฟังก์ชันเสริมในการตรวจวัดค่าอื่น ๆ เช่น วัดชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ วัดการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย หรือการแจ้งเตือนแบตเตอรี่หมดบนหน้าจอ เป็นต้น แต่ฟังก์ชันเสริมเหล่านี้อาจเพิ่มมูลค่าของเครื่อง ทำให้มีราคาสูงกว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วทั่วไป
(4) มีเสียงแจ้งเตือนอัตโนมัติ
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วบางรุ่นมีเสียงแจ้งเตือนอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบความผิดปกติของค่าต่าง ๆ เช่น ค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจสูงหรือต่ำจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานและผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมาก
การเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการวางแผนดูแลสุขภาพระยะยาวผ่านการทำประกันภัยสุขภาพ ประกันภัยโควิด หรือประกันภัยแพ้วัคซีน ช่วยให้อุ่นใจเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยในอนาคต แต่ถ้าไม่รู้ว่าควรเลือกกรมธรรม์แบบไหนดี ฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาเพื่อให้คุณได้ประกันภัยที่ตรงใจที่สุด สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : health.state.mn.us, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)