พรบ.รถยนต์เบิกอะไรได้บ้าง คุ้มครองไม่ตกหล่น
เขียนเมื่อวันที่ 16/11/2021
พรบ.รถยนต์รูปแบบประกันรถยนต์ภาคบังคับที่รถทุกคันต้องมี
รถยนต์เป็นยานพาหนะการเดินทางที่สำคัญในยุคปัจจุบัน นอกจากจะให้ความเป็นส่วนตัวและความสะดวกสบายในการเดินทางแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่ารู้สำหรับคนมีรถยนต์คือการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือพรบ.รถยนต์ ที่ถือมีความสำคัญต่อผู้ขับขี่รถยนต์ทุกประเภท เนื่องด้วยเป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ หากรถยนต์ไม่มีพรบ. จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้และมีโทษทางกฏหมาย แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้ถึงรายละเอียดและความสำคัญ รวมถึงความคุ้มครองที่จะได้รับ พร้อมการเบิกค่าเสียหายในกรณีต่าง ๆ ฮักส์มีข้อมูลเกี่ยวกับพรบ.รถยนต์ที่น่ารู้เผื่อเป็นประโยชน์ต่อคนมีรถยนต์มาฝากกัน
พรบ.รถยนต์ คืออะไร
พรบ.รถยนต์ หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ คือการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่รัฐได้มีการออกกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องมีประกันภัยอย่างน้อยที่สุดคือ พรบ.รถยนต์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถได้มีหลักประกันในกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายต้องทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก รถพ่วง หรือรถมือสอง เป็นต้น
ความคุ้มครองพรบ.รถยนต์ ตามกำหนดพระราชบัญญัติ
วัตถุประสงค์ของการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีดังนี้
- คุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยจะได้รับการรักษาพยาบาลทั้งกรณีบาดเจ็บ หรือค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตเนื่องจากรถยนต์
- ถือเป็นหลักประกันให้แก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลจากการเข้ารับการรักษาในกรณีผู้ประสบภัยจากรถ
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและครอบครัวมากยิ่งขึ้น
ข้อควรรู้เกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
- ผู้มีหน้าที่ทำประกันภัยภาคบังคับ คือ เจ้าของรถผู้ที่ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่นำรถยนต์จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ภายในประเทศไทย หากฝ่าฝืนมีกฏหมายกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
- ผู้ประสบภัย คือ ผู้ที่ประสบภัยจากรถทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถ
- ผู้รับประกันตามพรบ.กำหนด หมายถึง บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถยนต์ รวมถึงบริษัทกลางที่รับประกันภัยแบบเฉพาะ เช่น รถจักรยานยนต์ หากบริษัทใดมีการฝ่าฝืนไม่รับประกันภัยรถตามพรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาท
พรบ.รถยนต์ที่คนขับรถต้องมี
อัตราเบี้ยการชำระพรบ.รถแต่ละชนิด
สำหรับพรบ.รถ เป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันแบบคงที่โดยจะแบ่งตามประเภทรถ ขนาดเครื่องยนต์และรูปแบบการขับเคลื่อน ซึ่งยกตัวอย่างรถยนต์ประเภททั่วไปที่นิยมใช้งานดังนี้
รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์
รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รหัส 1.30
- ไม่เกิน 75 CC ราคา 150 บาทต่อปี
- เกิน 75 CC แต่ไม่เกิน 125 CC ราคา 300 บาทต่อปี
- เกิน 125 CC แต่ไม่เกิน 150 CC ราคา 400 บาทต่อปี
- เกิน 150 CC ราคา 600 บาทต่อปี
รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนส่วนบุคคล รหัส 1.10 ราคา 600 บาทต่อปี
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คนส่วนบุคคล รหัส 1.20
- ขนาดที่นั่ง ไม่เกิน 15 ที่นั่ง ราคา 1,100 บาทต่อปี
รถพลังงานไฟฟ้า
- รถจักรยานยนต์ รหัส 1.30E ราคา 300 บาทต่อปี
- รถสามล้อ รหัส 1.70E ราคา 500 บาทต่อปี
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน รหัส 1.10E ราคา 600 บาทต่อปี
พรบ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง
ความคุ้มครองเบื้องต้นผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองทั้งในส่วนของค่ารักษาพยาบาล กรณีได้รับบาดเจ็บ หรือค่าปลงศพกรณีสูญเสียชีวิตโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด และบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยชอบธรรมของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น พรบ.รถยนต์เบิกได้เท่าไหร่ คำตอบคือรวมกันจะไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน โดยแบ่งเป็นกรณีดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อคน
- กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย (ทุพพลภาพ) อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท ต่อคน อาทิ ตาบอด หูหนวก สูญเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ สูญเสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว จิตพิการ หรือทุพพลภาพถาวร
- กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท ต่อคน
- กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 65,000 บาท ต่อคน
วิธีขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพรบ. คุ้มครอง
การขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือการเบิกพรบ.รถยนต์จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ประสบภัยต้องยื่นร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นกับบริษัทภายใน180 วัน ตั้งแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น โดยใช้หลักฐาน ดังนี้
กรณีบาดเจ็บ
- ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้
- ในกรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บต่อมาทุพพลภาพให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือหลักฐานที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติม
กรณีเสียชีวิต
- สำเนามรณบัตร
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานเป็นผู้ประสบภัยจริง
การใช้รถใช้ถนนควรเน้นในเรื่องของความปลอดภัยและความมีน้ำใจเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการเลือกทำประกันภัยรถยนต์ ทั้งในส่วนของประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พรบ.) หรือประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีให้เลือกความคุ้มครองทั้งในส่วนของประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 และประกันภัยรถยนต์ชั้น 3+ ฮักส์มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้รถยนต์ พร้อมความคุ้มครองที่ครอบคลุม ฮักส์ยินดีให้คำแนะนำการเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ในแบบที่คุณต้องการ ติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)