อายุใกล้ 60 รีบเช็ค เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน กรณีเกษียณอายุ
เขียนเมื่อวันที่ 26/10/2021
รู้ไว้อุ่นใจยามอายุเยอะกฎหมายแรงงาน เกษียณอายุ 2564
วัฏจักรการดำเนินชีวิตของมนุษย์ย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศไทยเองก็เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งเป็นการที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากโดยปัญหานี้ย่อมส่งผลกระทบต่อหลายด้านทั้งด้านตลาดแรงงาน และการขาดรายได้หลักจากผู้ที่มีอายุเข้าสู่วัยเกษียณทำให้หลายคนอาจไม่มีความมั่นคงทางรายได้ หรืออาจต้องหันไปพึ่งพารายได้จากบุคคลในครอบครัว ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายแรงงาน ที่คุ้มครองในกรณีเกษียณอายุสำหรับได้รับเงินชดเชยตามเงื่อนไข
กฎหมายแรงงานได้มีการบัญญัติให้ลูกจ้างสามารถรับเงินชดเชยหลังเกษียณอายุได้ ซึ่งช่วงอายุที่กำหนดจะอยู่ที่ครบ 60 ปีบริบูรณ์ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน ได้ทั้งในกรณีเกษียณอายุตามที่นายจ้างหนดไว้ในสัญญาให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง (ช่วงอายุที่กำหนดของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันออกไป) ซึ่งต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย เงินชดเชยตามกฎหมายถือเป็นสิทธิที่แรงงานทุกคนจะได้รับตามกฎหมาย เมื่อครบอายุเกษียณในที่ทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปีขึ้นไป จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ตามเนื้อหาที่ระบุใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
กฎหมายแรงงาน เกษียณอายุ
เงื่อนไขการเกษียณอายุที่ควรรู้
กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเกี่ยวกับกรณีเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชย ดังนี้
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าการเกษียณอายุเป็นตามข้อสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
- กรณีกำหนดการเกษียณอายุ เกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ได้มีการกำหนด ลูกจ้างมีสิทธิขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนายื่นขอเกษียณ
คุณสมบัติลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ
- ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้เงินชดเชย 30 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 240 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จะได้เงินชดเชย 300 วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับเงินชดเชย 400 วัน
เงินประกันสังคมในกรณีชราภาพ
นอกจากเงินชดเชยกรณีเกษียนอายุจากกฎหมายแรงงาน สำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนจะได้รับเงินประกันสังคมในกรณีชราภาพเช่นเดียวกัน โดยเป็นอีกหนึ่งความคุ้มครองที่สำนักงานประกันสังคมมอบให้แก่ผู้ประกันตนในยามชราภาพ สามารถขอได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงเช่นกัน โดยมีผลประโยชน์ทดแทนทั้งในกรณีบำนาญชราภาพและกรณีบำเหน็จชราภาพ ดังนี้
กรณีบำนาญชราภาพ
- หากเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการคำนวณเงินสมทบ
- หากเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนและปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน
กรณีบำเหน็จชราภาพ
- หากเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะมีการจ่ายในรูปแบบของเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุน
- ในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะมีการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้รับผลประโยชน์จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงเสียชีวิต
สำหรับใครที่เตรียมวางแผนในช่วงเกษียณอายุควรรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายแรงงาน และสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับในกรณีชราภาพเพื่อสิทธิของตัวเอง นอกจากนี้ควรวางแผนรูปแบบการดำเนินชีวิตยามมีอายุมากขึ้น เรื่องสุขภาพและการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันด้วยการเลือกดูแลสุขภาพและร่างกายให้แข็งแรง หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมเลือกทำประกันภัยสุขภาพ เพื่อช่วยเพิ่มความอุ่นใจในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือขาดรายได้จากการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ฮักส์มีความคุ้มครองประกันภัยสุขภาพหลากหลายยินดีให้คำแนะนำการเลือกซื้อประกะนภัยที่ครอบคลุมและเหมาะกับความต้องการของคุณ ติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม, พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗), กระทรวงแรงงาน