5 ประโยชน์ตรวจสุขภาพประจําปี ป้องกันโรคร้ายมาเยือน
เขียนเมื่อวันที่ 20/07/2021
ตรวจสุขภาพประจำปี ดีอย่างไร
แม้เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีจะมีมานาน แต่มีหลายคนที่ยังตั้งคำถามว่า ทำไมต้องตรวจสุขภาพหรือตรวจแล้วมีประโยชน์อย่างไร ถ้าอยากไปตรวจสุขภาพประจำปีต้องเตรียมตัวอย่างไร แต่ละช่วงอายุมีโปรแกรมตรวจสุขภาพเหมือนกันหรือไม่ วันนี้ฮักส์มีคำตอบมาฝาก
ตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร
เป็นการตรวจสอบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเรา เพื่อหาความเสี่ยงหรือความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ หากตรวจพบก็สามารถวางแผนรักษาได้ทันที ก่อนความผิดปกติเหล่านั้นจะนำไปสู่โรคร้ายในอนาคต เพราะบางโรคจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว
ข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี
(1) การตรวจสุขภาพประจำปีช่วยให้ตรวจพบโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ทำให้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
(2) ช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
(3) ถ้าตรวจพบภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรค แพทย์สามารถแนะนำวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากโรคได้
(4) ช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ อย่างการบริโภคอาหารรสจัดหรือมีไขมันสูงเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต
(5) ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต
ก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ควรเตรียมตัวอย่างไร
(1) ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพราะถ้าพักผ่อนไม่พอแล้วมาตรวจอาจทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่
(2) งดอาหารและน้ำดื่ม อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่ทั้งนี้สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
(3) งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ
(4) หากทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ
(5) หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ ให้นำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์ติดมาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
(6) ควรเข้ารับการตรวจในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกอิดโรย เพราะต้องงดน้ำ งดอาหารนานเกินไป
(7) ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ
(8) สำหรับผู้หญิง ไม่ควรตรวจสุขภาพช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
(9) การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากเต้านมมีความคัดตึง ให้ตรวจหลังมีประจำเดือน
(10) กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดตรวจเอกซเรย์
การตรวจสุขภาพประจำปี ควรตรวจอะไรบ้าง
ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เพียงแต่รายการตรวจสุขภาพมีความแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ เพศ และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของแต่ละบุคคล โดยแบ่งการตรวจสุขภาพของแต่ละช่วงวัยไว้ดังนี้
วัยเด็ก
เป็นการตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่าง ๆ และค้นหาความผิดปกติ รวมถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุเพื่อป้องกันการเกิดโรค
วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่
การตรวจสุขภาพในวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นการตรวจสภาพของร่างกาย เพื่อค้นหาโรคต่าง ๆ ที่อาจแฝงอยู่ในร่างกายแต่ยังไม่แสดงอาการ โดยรายการตรวจสุขภาพของช่วงวัยนี้ อาทิ
- การวัดความดันโลหิต
- การวัดชีพจร
- การวัดอัตราการหายใจ
- วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของไต การทำงานของตับ เป็นต้น
- การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง
- ตรวจปัสสาวะ ฯลฯ
นอกจากการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว วัยทำงานควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเอกซเรย์เต้านม เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม
- สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรรับการตรวจวัดสายตาและตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง และความผิดปกติอื่น ๆ
- สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
วัยสูงอายุ
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปนั้น นอกจากเข้ารับการตรวจสุขภาพแบบเบื้องต้นแล้ว ยังควรรับการตรวจเพิ่มเติม อย่างการตรวจสายตา ตรวจความหนาแน่นกระดูก เพื่อคัดกรองภาวะกระดูกพรุน หรือตรวจสมรรถภาพหัวใจ เพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจว่ามีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อรู้ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วว่า มีความสำคัญต่อร่างกายของคุณมากขนาดไหน ทั้งช่วยค้นหาโรคและภาวะผิดปกติในร่างกายก่อนแสดงอาการ ยังช่วยให้คุณวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงวางแผนการเงินสำหรับการดูแลรักษาระยะยาว และเพื่อกระจายความเสี่ยงในส่วนของค่ารักษายามเจ็บป่วย ฮักส์มีแผนประกันภัยสุขภาพออนไลน์หลากหลายแผนให้คุณเลือกซื้อเพื่อวางแผนรับมือปัญหาสุขภาพในอนาคต ประกันสุขภาพ Health Me วงเงินคุ้มครองสูงสุด 10 ล้านบาทต่อปี ค่าห้องสูงสุด 15,000 บาท ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัดจ่ายตามจริง เบี้ยเริ่มต้น 6,205 บาท หรือถ้าใครสนใจซื้อประกันกับผู้เชี่ยวชาญสามารถปรึกษาฮักส์ได้ที่ Facebook Line หรือ โทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์