รวมสาเหตุการเกิดริดสีดวง ปล่อยทิ้งไว้อันตราย
เขียนเมื่อวันที่ 19/07/2021
โรคริดสีดวง หายเองได้ไหม อันตรายหรือไม่
ริดสีดวงทวาร โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่ช่วยในเรื่องของการขยายตัวบริเวณทวารหนักขณะขับถ่าย มีการเคลื่อนตัวที่ต่ำลงกว่าตำแหน่งปกติและเกิดการโป่งพอง ทำให้ขณะขับถ่ายมีเลือดออกและมีติ่งยื่นออกมาบริเวณปากทวารหนัก อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวด หรือสร้างความลำบากขณะนั่ง หรือขับถ่าย ริดสีดวงแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ ริดสีดวงชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids) และริดสีดวงชนิดภายนอก (External Hemorrhoids) ซึ่งมีลักษณะอาการ ดังนี้
ริดสีดวงชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids)
ริดสีดวงชนิดนี้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บและไม่มีติ่งยื่นออกมานอกทวารหนัก เนื่องจากจะเกิดภายในและเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทการรับความรู้สึกน้อย แต่สังเกตอาการได้ในขณะขับถ่ายจะมีเลือดไหลออกมาร่วมด้วย
ริดสีดวงชนิดภายนอก (External Hemorrhoids)
ริดสีดวงที่มีลักษณะของติ่งเนื้อนูนออกมานอกบริเวณทวารหนัก สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า
โรคริดสีดวงทวารหนักหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายที่หลายคนต้องพบเจอ ซึ่งอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่หากเป็นขั้นรุนแรงก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
ระดับความรุนแรงของริดสีดวง สามารถแบ่งได้ 4 ลำดับ ดังนี้
- ลำดับที่ 1 ริดสีดวงจะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่รับรู้ถึงความผิดปกติ
- ลำดับที่ 2 ริดสีดวงเริ่มมีขนาดใหญ่ และยื่นออกมาบริเวณนอก ทวารหนักในเวลาขับถ่าย และจะหดกลับเข้าไปด้านในหลังขับถ่ายเสร็จ
- ลำดับที่ 3 ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกได้ถึงติ่งเนื้อที่มีการยื่นออกมาจากช่องทวารหนัก ขณะขับถ่ายหรือมีการเบ่งแต่ยังสามารถดันกลับเข้าไปด้านในทวารหนักได้เช่นกัน
- ลำดับที่ 4 ริดสีดวงจะยื่นออกมาจากบริเวณทวารหนักและไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ และติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น
อาการ โรคริดสีดวงทวาร
สำหรับอาการของริดสีดวงภายในและภายนอกถึงแม้จะมีลักษณะปรากฏของติ่งเนื้อที่แตกต่างกัน แต่มีอาการในรูปแบบเดียวกัน ดังนี้
- เกิดอาการคันและรู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณทวารหนักตรงจุดที่เป็นริดสีดวง
- ในระยะแรกจะพบว่ามีเลือดติดมากับกระดาษชำระหลังจากการขับถ่าย และระยะต่อมาจะมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ
- มีติ่งหรือก้อนที่บริเวณทวารหนัก
- มีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น เวียนหัว หน้ามืด เป็นต้น
อาการโรคริดสีดวงทวาร
สาเหตุการเกิดริดสีดวง
สำหรับสาเหตุการเกิดริดสีดวงทวารยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้หลายสาเหตุ คือ
- การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
- การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง
- โรคท้องผูก
- การตั้งครรภ์
- มีน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน
- ท้องเสียเรื้อรัง หรือถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
- มีการใช้ยาระบายหรือยาสวนอุจจาระบ่อยครั้ง
- รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์น้อย
- ดื่มน้ำน้อยทำให้ลำไส้ไม่มีน้ำในการช่วยขับของเสีย
- ดื่มชาหรือกาแฟเป็นประจำ ทำให้เกิดอาการท้องผูก
- ทานอาหารรสจัดเป็นประจำ ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ริดสีดวงทวารหนัก สามารถพบร่วมกับโรคอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกันอาทิ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่ ก้อนเนื้องอกในท้อง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคตับแข็ง เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หากพบว่าในมีเลือดออกขณะขับถ่ายนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะเสี่ยงเป็นโรคร้ายได้
โรคริดสีดวงทวารหนักสามารถลดโอกาสในการเกิดได้ เริ่มต้นจากตัวเราเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวาร เช่น การรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระ ดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น
ริดสีดวงอันตรายไหม? ถึงแม้ริดสีดวงทวารจะไม่ใช่โรคร้ายแรงและรักษาให้หายได้ แต่อาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังและเป็นสาเหตุสู่ภาวะแทรกซ้อนในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ริดสีดวงถือเป็นโรคใกล้ตัวเนื่องจากเป็นกลไกปกติของมนุษย์ในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตัวเองหากเกิดความผิดปกติของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
เรื่องสุขภาพถึงแม้เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็ควรวางแผนความคุ้มครองการดูแลค่ารักษาในยามเกิดการเจ็บป่วย หรือ เกิดโรคแบบไม่คาดคิด การเลือกทำประกันภัยสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ฮักส์มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพที่หลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบัน สามารถติดต่อฮักส์ได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลศิครินทร์ , Pobpad