เงินชดเชยครูเอกชน พร้อมสวัสดิการที่ได้รับ
เขียนเมื่อวันที่ 12/10/2021
ข้อควรรู้ สวัสดิการครูเอกชน เบิกอะไรได้บ้าง
เมื่อเอ่ยถึงอาชีพในฝันย่อมมี "อาชีพครู" ติดโผอยู่ด้วยแน่นอน โดยมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากข้าราชการครูมีสวัสดิการตามกฎเกณฑ์ข้าราชการทั่วไป แต่หากไม่อยากรับราชการก็สามารถสมัครเป็นครูในโรงเรียนเอกชนได้เช่นกัน แต่ก่อนก้าวเข้าสู่อาชีพนี้การวางแผนเลือกเรียนคณะก็สำคัญไม่น้อย หากต้องการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยตรง ควรเลือกคณะที่คุรุสภาให้การรับรอง เช่น คณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ แต่ถ้าเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ สามารถนำวุฒิการศึกษาไปยื่นขอสอบใบอนุญาตวิชาชีพครูได้เช่นกัน
สำหรับว่าที่คุณครูที่กำลังลังเลว่า ควรสมัครเป็นข้าราชการครูหรือครูเอกชนดี เพราะไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับ และเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ วันนี้ Hugs Insurance ขอพาไปไขข้อสงสัย
สวัสดิการครูเอกชน มีอะไรบ้าง
จากข้อมูลกองทุนสงเคราะห์ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ระบุถึงสวัสดิการของครูโรงเรียนเอกชนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน 2550 ว่ามีสิทธิได้รับสวัสดิการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ผู้ที่ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ติดกันครบ 2 เดือน หรือ 60 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มส่งเงินเข้ากองทุนฯ โดยสวัสดิการที่ได้รับมี 4 ประเภท ประกอบด้วย
(1) ค่ารักษาพยาบาล
ค่าบริการทางการแพทย์ เบิกจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้
สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ปีละ 100,000 บาท โดยนับระยะเวลา 1 ปี ตามปีปฏิทิน (วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม) ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ค่าห้องและค่าอาหารตามที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 600 บาท
- ค่ารักษาพยาบาลที่เบิกได้ เช่น ค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าวิเคราะห์โรค หรือค่าอวัยวะเทียม เป็นต้น
(2) ค่าการศึกษาบุตร
ครูเอกชนที่ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครบตามเงื่อนไข สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ถึง 3 คน ไม่ว่าบุตรเข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชนก็ตาม แต่เบิกได้ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
(3) ค่าช่วยเหลือบุตร
มอบเงินช่วยเหลือครูเอกชนที่มีบุตร จำนวน 3 คน โดยเบิกได้เดือนละ 50 บาท ต่อบุตร 1 คน
(4) เงินทดแทน
กรณีครูโรงเรียนเอกชนประสบอุบัติเหตุจนทุพพลภาพหรือถึงแก่ชีวิต ผู้เป็นทายาท (คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา) จะได้รับเงินทดแทน ดังนี้
- ค่าทำศพ จำนวน 3 เท่าของเงินเดือน เดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน
- รับเงินทดแทน 60% ของอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้าย เป็นระยะเวลา 8 ปี แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
รวมมาตรการช่วยเหลือครูเอกชน จากวิกฤตโควิด-19
นับตั้งแต่เกิดจากแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ทำให้สูญเสียรายได้ แต่ยังแบกภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดังนี้
เงินช่วยเหลือครูเอกชน กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัย
บุคลากรโรงเรียนเอกชนที่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดโรงเรียน หรือโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนในกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน
รับเงินเยียวยาประกันสังคม
เงินเยียวยาโควิด-19 ของผู้ประกันตน
สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด 29 จังหวัด ตามประกาศล็อกดาวน์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ได้รับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่หยุดงานตามคำสั่งล็อกดาวน์ รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) พร้อมรับเงินเพิ่ม 2,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2564
- ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ไม่ได้หยุดงาน ได้รับเงินเยียวยาเป็นเงิน 5,000 บาท
เพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวครูเอกชน
ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การอุดหนุนเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครูโรงเรียนเอกชน 2564 ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวครูเอกชนเดือนละ 1,500 บาท เฉพาะผู้ที่ได้รับเงินเดือน ไม่ถึงเดือนละ 11,700 บาท
เมื่อพิจารณาสวัสดิการของครูเอกชนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน 2550 หรือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต่างได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องค่ารักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน แต่ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังระบาด การเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าชดเชยรายได้ต่าง ๆ ผ่านแผนประกันภัยสุขภาพช่วยให้คุณหมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในอนาคต ฮักส์มีกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนรุ่นใหม่ เพียงจ่ายเบี้ยเริ่มต้น 2,160 บาท/ปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : คุรุสภา, กองทุนสงเคราะห์ กระทรวงศึกษาธิการ, พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน 2550, ราชกิจจานุเบกษา