ไขข้อสงสัย! กัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง
เขียนเมื่อวันที่ 17/07/2021
สรรพคุณทางยาของกัญชาน่ารู้
กัญชาเป็นพืชชนิดนึ่งที่เคยถูกบัญญัติให้เป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่ในปี พ.ศ 2563 ได้มีการประกาศปลดกัญชาออกจากประเภทสารเสพติด แต่ยังมีกฎหมายควบคุมการปลูกที่จำกัดครัวเรือนละ 6 ต้นและห้ามใช้ในการเสพโดยเด็ดขาด ก่อนการปลูกต้องขออนุญาตทางการก่อน ผู้ปลูกจะต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาของรัฐ นอกจากนั้นยังมีส่วนของกัญชาที่ยังจัดเป็นสารเสพติด คือ เมล็ดและช่อดอก โดยห้ามครอบครองเมล็ดกัญชาเด็ดขาด และช่อดอกต้องส่งหน่วยงานเพื่อการวิจัยเท่านั้น ห้ามนำมาใช้งานส่วนตัว
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกัญชา
การปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
กัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Cannabis sativa forma indica อยู่ในวงศ์ Cannabidaceae สารที่ใช้ในการรักษาที่พบในกัญชามี 2 ชนิด คือ Cannabidiol (CBD) และ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งกัญชาในตระกูลนี้ที่พบบ่อยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis ruderalis แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- สายพันธุ์ซาติว่า (Cannabis sativa)
Sativa พบมากบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น โคลัมเบีย แม็กซิโก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ขนาดลำต้นของ Sativa จะสูงที่สุดในบรรดา 3 สายพันธุ์ มีความสูงประมาณ 150 – 250 ซม. ขนาดใบจะมีความเรียวยาวกว่าสายพันธุ์อื่น พันธุ์ซาติว่าจะมีสาร THC สูงโดยธรรมชาติ ทำให้ออกฤทธิ์มอมเมา เคลิบเคลิ้มได้ง่ายเมื่อมีการนำไปใช้
- สายพันธุ์อินดิก้า Cannabis indica
Indica พบมากบริเวณประเทศแถบตะวันออกกลางและเทือกเขาทิเบต เช่น ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ขนาดลำต้นของ Indica จะเล็กกว่าซาติว่า แต่ใหญ่กว่ารูเดราลิส มีความสูงประมาณ 100 – 150 ซม. ขนาดใบของอินดิก้าจะกว้างและใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 สายพันธุ์ พันธุ์อินดิก้ามีสาร CBD สูง มีสาร THC ต่ำกว่าซาติว่า แต่สูงกว่ารูเดราลิส มีฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- สายพันธุ์รูเดราลิส Cannabis ruderalis
Ruderalis พบมากบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น เทือกเขาหิมาลัย และป่าไซบีเรีย เช่น รัสเซีย ลำต้นของ Ruderalis จะมีขนาดลำต้นสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับ 2 สายพันธุ์ข้างต้น มีความสูงเพียง 30 - 60 ซม. ขนาดใบใหญ่กว่า Sativa แต่เล็กกว่า Indica พันธุ์รูเดราลิสมีระดับสาร THC ต่ำมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ และมีสาร CBD สูง นิยมใช้รักษาร่วมกับสายพันธุ์อื่น ๆ
การใช้งานสารสกัดจากกัญชามักจะดึงจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์ออกมา รวมถึงมีการตัดแต่งพันธุกรรมของกัญชาเพื่อประโยชน์ในการสกัดสารที่เป็นประโยชน์ การจะปลูกกัญชาเองจึงต้องมีใบอนุญาตและเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับกัญชาเป็นอย่างดี
สรรพคุณทางยาของกัญชา
สารสกัดจากกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์
กัญชามีสารอยู่ 2 ชนิดที่นำมาสกัดเพื่อใช้ในการรักษา ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดเรียกรวมกันว่า แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หรือ CB เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองบางส่วน เมื่อมีการใช้กัญชา สารแคนนาบินอยด์ในร่างกายจึงทำหน้าที่เป็นตัวรับสารแคนนาบินอยด์จากกัญชา เมื่อได้รับสารในปริมาณเหมาะสมจะรู้สึกผ่อนคลาย แคนนาบินอยด์ทั้ง 2 ชนิดที่พบในกัญชา ได้แก่
- delta-9-tetrahydrocannabinol (THC)
THC เป็นสารชนิดแรกที่พบว่ามีอยู่ในกัญชาและเป็นสาเหตุของอาการเคลิบเคลิ้มเมื่อสูบกัญชา จากการทดลองพบว่าสาร THC จะพบได้มากกว่าสาร CBD และสาร THC นี้มีผลข้างเคียงมากมาย จึงต้องมีการควบคุมปริมาณการใช้ให้เหมาะสม หากใช้มากเกินไปจะกลายเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทและสมอง
- Cannabidiol (CBD)
CBD เป็นสารที่เพิ่งค้นพบหลังจากค้นพบสาร THC สรรพคุณของ CBD จะเน้นไปที่การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวด โดย CBD นี้มีผลข้างเคียงน้อยมากเมื่อเทียบกับ THC แต่การสกัดสารนี้ออกมาจากต้นกัญชาก็ได้น้อยเช่นกัน นิยมใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากสาร THC
โรคที่สามารถรักษาด้วยกัญชาได้
ช่วงหนึ่งเคยมีประเด็นข่าว 39 โรคที่ใช้กัญชาได้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ผิด การใช้กัญชารักษาโรคยังคงมีการวิจัยอยู่ตลอด และมีเพียงไม่กี่โรคเท่านั้นที่มีผลการวิจัยรองรับว่าได้ผล เช่น
- โรคลมชัก
สาร CBD ช่วยลดการยึดเกร็งของกล้ามเนื้อ และหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันระบบประสาท เหมาะกับผู้ป่วยลมชักที่ดื้อยาจากการรักษามาตรฐาน
- โรคปลอกประสาทเสื่อม
สารสกัดจากกัญชาช่วยลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมมักจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร และอาเจียนร่วมอยู่ จึงมีการใช้กัญชาเพื่อลดอาการเหล่านี้
- ผลข้างเคียงจากเคมีในผู้ป่วยมะเร็ง
ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร สารสกัดจากกัญชาสามารถลดอาการเหล่านี้ได้
นอกจากโรคที่สามารถใช้กัญชารักษาร่วมได้ ยังพบอาการที่สามารถใช้กัญชาในการรักษาได้เช่นกัน เช่น อาการนอนไม่หลับ เครียดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก เบื่ออาหาร และอาการปวดบางชนิด เพราะกัญชามีฤทธิ์ช่วยให้ผ่อนคลาย ต้านอาการอาเจียน เพิ่มความอยากอาหาร และบรรเทาปวดได้ในบางกรณี
คลินิกกัญชา แพทย์ทางเลือกที่รักษาด้วยกัญชา
คลินิกกัญชาเป็นหน่วยบริการหนึ่งในโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ เป็นต้นแบบการรักษาด้วยกัญชา โดยใช้องค์ความรู้แพทย์แผนไทยโบราณเข้ามาเป็นแนวทางในการรักษา เบื้องต้นจะมียา 4 ตำรับ ได้แก่
ยาตำรับศุขไสยาศน์ – จากคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ช่วยบรรเทาอาการปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ นอนหลับสบาย เจริญอาหาร
ยาตำรับทำลายพระสุเมรุ – จากคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ช่วยบรรเทาอาการแข็งเกร็งจากอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ยาแก้ลมแก้เส้น – จากตำราเวชศาสตร์วัณ์ณณา ช่วยบรรเทาอาการมือเท้าชา และการแข็งเกร็งของร่างกาย
น้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา – สั่งใช้โดยแพทย์แผนไทยและไทยประยุกต์ ใช้กับผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง และผู้ป่วยที่ปวดหัวจากโรคพาร์กินสัน และไมเกรน
กัญชาเพิ่งเปิดเสรีในประเทศไทย และยังมีกฎหมายควบคุมอยู่ การใช้งานควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ และการรักษามักจะใช้ควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน กัญชาเป็นเพียงส่วนเสริมในการรักษาเท่านั้น
การรักษาในปัจจุบันมีการผสมผสานทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์และพืชสมุนไพรเข้าด้วยกันเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษา ซึ่งทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงควรมีประกันภัยสุขภาพไว้สักตัว ซึ่งฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์มากที่สุด ปรึกษาฮักส์ได้ทั้งช่องทาง Line, Facebook และเบอร์โทรศัพท์ 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : CANN Health, กรมสุขภาพจิต