ตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ เกิดจากสาเหตุอะไร
เขียนเมื่อวันที่ 25/08/2021
หาสาเหตุอาการตัวร้อนไม่มีไข้ที่พบได้บ่อย
ร่างกายมนุษย์มีกลไกในการป้องกันตนเองสูง เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น เกิดอาการแพ้ มีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายมักจะส่งสัญญาณออกมาเป็นอาการเจ็บป่วย เพื่อให้ขับสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา อาการป่วยที่พบมักจะมีไข้และตัวร้อนร่วมกับอาการอื่น ๆ แต่บางครั้งมีเพียงอาการตัวร้อน แต่กลับไม่มีไข้จนกังวลว่าอาการแบบนี้เกิดจากสาเหตุใดและอันตรายหรือไม่
นิยามของคำว่าตัวร้อนไม่มีไข้
คำว่า “ตัวร้อนไม่มีไข้” มาจาก 2 อาการ คือ อาการตัวร้อนและอาการไม่มีไข้ เพื่อให้เข้าใจคำนี้ง่ายขึ้นจึงควรรู้ว่าอาการทั้ง 2 อย่างนี้แตกต่างและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
- ตัวร้อน คือ อาการที่สัมผัสได้ถึงความร้อนผ่านทางผิวหนัง โดยมากอาการตัวร้อนมักเกิดจากการส่งผ่านความร้อนจากภายในร่างกาย แต่บางครั้งอาจเป็นความร้อนที่อยู่บริเวณชั้นผิวหนังที่ทำให้รู้สึกร้อน
- มีไข้ คือ การที่อุณหภูมิภายในร่างกายพุ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แล้วส่งผ่านความร้อนออกมาภายนอก มักจะสัมผัสได้ผ่านผิวหนัง เมื่อใช้เครื่องวัดอุณหภูมิวัดทางปาก รักแร้ หรือบริเวณรูหูจะจับอุณหภูมิได้ประมาณ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และหากวัดผ่านทวารหนักอุณหภูมิจะสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นคำว่าไม่มีไข้ในที่นี้อุณหภูมิร่างกายเมื่อวัดด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิจะต้องอยู่ที่ประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส
การที่ตัวร้อนแต่วัดอุณหภูมิแล้วปกติอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยอาการตัวร้อนมักมาพร้อมกับไข้ขึ้นสูง แต่บางครั้งอาจมาพร้อมอาการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไข้ขึ้นได้เช่นกัน เช่น ตัวร้อนไม่มีไข้ แต่ปวดเมื่อยเหมือนอาการเริ่มต้นของการเจ็บป่วย ทั้งที่อุณหภูมิร่างกายปกติ การที่ไม่มีไข้นี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าไม่ป่วย แต่อาจเป็นการที่ร่างกายสามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้เป็นอย่างดี ทางที่ดีควรสังเกตอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม แล้วพบแพทย์หากมีความจำเป็น
สาเหตุของอาการตัวร้อนไม่มีไข้
อุณหภูมิร่างกายปกติแม้จะรู้สึกตัวร้อน
อาการตัวร้อนสามารถสัมผัสได้ง่าย โดยเฉพาะอาการตัวร้อนไม่มีไข้ตอนกลางคืน เพราะขณะห่มผ้าความร้อนบนตัวจะอบอวลอยู่ในผ้าห่มจนรู้สึกร้อน แต่ร่างกายยังรู้สึกปกติ และเมื่อวัดไข้อุณหภูมิก็ไม่ได้สูงกว่ากำหนด สาเหตุของอาการตัวร้อนไม่มีไข้อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้
- การตั้งครรภ์
ตัวร้อนไม่มีไข้ในผู้หญิงสามารถบ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ โดยต้องไม่ใช่อุณหภูมิสูงจากไข้หวัด สาเหตุอาการตัวร้อนนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะมีอาการตัวร้อนไม่มีไข้ เวียนหัว และหน้ามืดเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ควรสังเกตปริมาณตกขาวและประจำเดือนประกอบด้วยเพื่อความแน่ใจ รวมถึงซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจเบื้องต้น
- การติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด
โควิด-19 กำลังระบาดหนักและอาการเริ่มต้นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนป่วยแบบไม่แสดงอาการ และบางรายมีอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ จึงไม่ควรวางใจแม้มีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อย
- โรคเบาหวาน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เมื่ออากาศร้อนร่างกายจะสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้ดื่มน้ำเพียงพอจะมีอาการตัวร้อนแม้จะไม่ได้มีไข้ร่วมด้วยก็ตาม
- การเข้าสู่วัยทอง
ช่วงที่ผู้หญิงกำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ร่างกายจะเกิดอาการร้อนวูบวาบ เนื่องมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเอสโตรเจน สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายจึงทำงานได้ไวกว่าปกติและรู้สึกตัวร้อนได้ง่ายขึ้น
- ภาวะเครียด ตื่นกลัว และตกใจ
อาการตัวร้อนเมื่อร่างกายมีความเครียดสะสม ความวิตกกังวล ตื่นเต้นหรือตื่นกลัวบางสิ่งส่งผลให้การสูบฉีดเลือดเร็วขึ้น ร่างกายรู้สึกร้อน และอาจมีอาการหน้าแดงและเหงื่อออกด้วย
- การตากแดดนานเกินไป
การอยู่ในพื้นที่ที่แดดแรงเป็นเวลานานทำให้อุณหภูมิบริเวณผิวหนังร้อนกว่าปกติได้ แต่จะค่อย ๆ ลดอุณหภูมิเองเมื่อกลับเข้าที่ร่ม การตากแดดนาน ๆ นอกจากจะทำให้ตัวร้อนแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง ไข้แดด และฮีทสโตรกอีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งนาน ๆ
- อาการท้องผูก
อาการตัวร้อนอาจมีสาเหตุมาจากท้องผูก ซึ่งเป็นอาการท้องผูกแบบร้อนหรือแบบหยางแกร่งตามศาสตร์จีนเป็นการที่ธาตุร้อนหรือหยางเพิ่มสูงขึ้น จนไม่สามารถขับถ่ายได้ ส่วนศาสตร์ไทยโบราณกล่าวว่าเกิดจากการรับประทานอาหารรสจัดจนธาตุร้อนเพิ่มสูงขึ้น และดูดซึมน้ำในลำไส้ไปจนหมด ทำให้อุจจาระแข็งและไม่สามารถออกมาได้โดยง่าย หรือขับถ่ายเป็นเลือด มาพร้อมกับอาการตัวร้อนจากธาตุร้อนนั่นเอง
- การกินอาหารบางประเภท
อาหารบางอย่างสามารถเพิ่มอุณหภูมิร่างกายได้ และไม่ได้ทำให้เกิดอาการไข้ เช่น สมุนไพรฤทธิ์ร้อนประเภทขิง ข่า กระชาย หอมแดง และอื่น ๆ นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนก็เพิ่มความร้อนให้ร่างกายได้เช่นกัน
- การออกกำลังกาย
การเผาผลาญกระตุ้นให้เกิดการสูบฉีดเลือด การออกกำลังกายก็เป็นหนึ่งในวิธีการเผาผลาญ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายบ่อยจะรู้สึกถึงความร้อนของร่างกายเร็วกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นความร้อนที่ไม่ได้มีอาการไข้เกิดขึ้นด้วย
อาการตัวร้อนไม่มีไข้นี้อาจเป็นอาการแรกเริ่มของอาการป่วยภายหลังได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจจึงควรสังเกตอาการร่วมอื่น ๆ หากมีอาการเวียนหัว เจ็บคอ ไอเรื้อรัง ปวดท้อง หรืออาการอื่นใดที่ผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพราะอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกมองข้ามมีโอกาสนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ในอนาคต เพื่อความอุ่นใจนอกจากจะหมั่นตรวจสุขภาพแล้วยังควรทำประกันภัยสุขภาพเอาไว้ เช่น ประกันภัยอุ่นใจรักษ์ โกลด์ (แผน 1) ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 600,000 บาท/ครั้ง/โรค* และค่าห้องผู้ป่วยหนักสูงสุด 18,000 บาท/วัน* เป็นอีกตัวช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมองข้าม ฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ติดต่อได้ทั้ง Facebook Line หรือโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล: MedicalNewsToday, Chantabhuri