เงินชดเชยกรณีบริษัทปิดกิจการ มีสิทธิได้รับการเยียวยา
เขียนเมื่อวันที่ 17/11/2021
ไขทุกข้อสงสัย บริษัทปิดกิจการ ลูกจ้างมีสิทธิได้อะไรบ้าง
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนฟรีแลนซ์ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน หลังนายจ้างหยุดประกอบกิจการเพราะพิษ COVID-19 ซึ่งถ้าใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำคือการรักษาผลประโยชน์ของตน ทั้งจากประกันสังคม และจากนายจ้างที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ส่วนลูกจ้างในฐานะผู้ประกันตน ม.33 สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้เท่าไหร่นั้น วันนี้ Hugs Insurance มีข้อมูลมาฝาก
ถูกเลิกจ้างแบบไหน ถึงได้รับเงินชดเชย
สำหรับผู้ประกันตน ม.33 ที่ถูกเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน โดยไม่ได้มาจากความผิดของตน ผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินไว้ใช้จ่ายในระหว่างที่ว่างงาน หรือเป็นเงินทุนในการหางานใหม่
แต่หากลูกจ้างที่ออกจากงานด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- ลาออกเองโดยสมัครใจ
- ทุจริตต่อนายจ้างหรือทำความผิดอาญา
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
- ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
- สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน
นายจ้างปิดกิจการ ได้เงินชดเชยเท่าไหร่
เงินชดเชยที่ต้องให้ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
กรณีถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง 2 ส่วน คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้
(1) ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง
สำหรับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างนั้น จะได้รับเมื่อลูกจ้างถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่มีความผิดใด ๆ สำหรับเงินชดเชยที่ได้จะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
(2) ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
ในส่วนของค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า "ค่าตกใจ" เป็นเงินชดเชยรายได้ที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้สมัครใจและไม่มีการบอกล่วงหน้า
กรณีเลิกจ้างทั่วไป
สำหรับกรณีนี้ให้อ้างอิงตามระยะเวลาที่มีการจ่ายเงินเดือน เช่น ให้เงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างต้องทำหนังสือแจ้งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือกรณีให้ค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน หากไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน เป็นต้น
กรณีเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน
หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน ผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน
ถ้าลูกจ้างคนดังกล่าวทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีกไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี แต่ต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
กรณีเลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบการ
ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เพื่อเป็นทุนสำรองช่วงว่างงานและมีเหตุให้ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน เนื่องจากเข้ารักษาในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือคลินิกที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาของบริษัทฯ ที่ซื้อประกันภัยสุขภาพไว้
กรณีบริษัทปิดกิจการช่วงโควิด ประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง
สำหรับผู้ประกันตน ม.33 ที่มีสิทธิประกันสังคมจะได้รับเงินชดเชยตามมาตรการเยียวยาโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบช่วงโควิดระบาด โดยมีรายละเอียดดังนี้
เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง หลังนายจ้างปิดกิจการ
กรณีถูกเลิกจ้าง
การถูกเลิกจ้างจากนายจ้างจะได้รับเยียวยาประกันสังคม 70% ของเงินเดือน โดยคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท เท่ากับว่าลูกจ้างได้รับเงินชดเชยสูงสุด 10,500 บาท ไม่เกิน 200 วัน/ปี
กรณีว่างงานเนื่องจากโควิด
ลูกจ้างที่ว่างงานเนื่องจากบริษัทหรือองค์กรปิดตัวจากโควิด ได้รับเงินชดเชย 50% จากฐานเงินเดือน สูงสุด 7,500 บาท ไม่เกิน 90 วัน
เมื่อต้องว่างงานแบบไม่ทันตั้งตัวแบบนี้ ขอให้ตั้งสติให้ดีและพยายามคิดทบทวนว่า ตนสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานไหนได้บ้าง ก่อนเตรียมเอกสารไปยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ใครที่ยังไม่ต้องเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ควรประมาท เพราะหากถูกบอกเลิกจ้างกะทันหันจนสวัสดิการต่าง ๆ ที่เคยได้รับหมดไป การทำประกันสุขภาพ Owner Care ของอาคเนย์ประกันภัยไว้ก่อนช่วยให้คลายกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลไม่ว่าป่วยหนักป่วยเบา ทั้งยังได้รับเงินชดเชยรายได้ระหว่างนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย ฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาพร้อมคำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของคุณ ผ่านทาง Facebook line หรือโทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม, ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541