เลือกให้ดี หน้ากากอนามัยกันเชื้อโรค ป้องกันโควิด-19
เขียนเมื่อวันที่ 15/09/2021
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ไอเทมป้องกันตัวยุคโควิด-19
หลังโรคระบาดอย่างโควิด-19 กลับมาแพร่กระจายอย่างหนักอีกครั้งในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้ Work From Home และเรียนออนไลน์ เพื่อหวังลดการกระจายเชื้อ COVID-19 พร้อมย้ำเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด ซึ่งไอเทมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับช่วงนี้ คือ หน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันไวรัส เจลล้างมืออนามัย หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันคุณจากเชื้อไวรัสทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน
แม้ปัจจุบันหน้ากากอนามัยหาซื้อได้ง่ายขึ้น แต่การเลือกซื้ออาจไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะหน้ากากในท้องตลาดมีให้เลือกซื้อหลายแบบทั้งหน้ากากผ้าที่ซักใช้ซ้ำได้ หน้ากากอนามัยแบบมีวาล์ว หน้ากากอนามัย N95 หน้ากากอนามัยแบบกรองอากาศ หรือหน้ากากคาร์บอน แล้วควรซื้อหน้ากากอนามัยแบบไหนที่สวมใส่แล้วปลอดภัยจากโควิด-19 ได้มากที่สุด วันนี้ Hugs Insurance มีคำตอบมาฝาก
หน้ากากอนามัยแบบไหน ป้องกันโควิด-19 ได้
(1) หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 ได้ดี
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ Surgical Mask เป็นหน้ากากแบบแผ่นใช้แล้วทิ้ง ทำจากวัสดุที่มีคุณสมบัติในการกรองเชื้อโรค และละอองสารคัดหลั่งต่าง ๆ ส่งผลให้หน้ากากอนามัยประเภทนี้ สามารถกันฝุ่นและเกสรดอกไม้ขนาดเล็ก 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% ขณะเดียวกันป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ถึง 99%
(2) มีคุณสมบัติช่วยป้องกัน COVID-19
หากอยากรู้ว่าหน้ากากอนามัยที่เลือกใช้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ให้พิจารณาตัวย่อที่แสดงถึงประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยที่อยู่ข้างกล่องดังนี้
ค่า VFE
สำหรับค่า Viral Filtration Efficiency เป็นตัวย่อที่บ่งบอกถึงค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของเชื้อไวรัสหรือ VFE ฉะนั้นเวลาเลือกซื้อหน้ากากอนามัยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ข้างกล่องระบุค่า VFE ไม่น้อยกว่า 98% เพื่อลดปัญหาการกระจายละอองฝอยจากสารคัดหลั่ง
ค่า PFE
Particulate Filtration Efficiency หรือ PFE เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอน และเชื้อไวรัส COVID-19 มีอนุภาคทรงกลมขนาด 0.06 – 0.14 ไมครอน ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยมีค่า PFE สูง ยิ่งช่วยป้องกันการรับเชื้อและลดการแพร่กระจายโควิดได้มากขึ้น
(3) ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล
เป็นหน้ากากอนามัยที่ผ่านการทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพว่าป้องกันของเหลวซึมผ่าน โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น
- มอก. 2424-2562 จากประเทศไทย
- ASTM F2100 จากประเทศสหรัฐอเมริกา
- YY/T 0691-2008 จากประเทศจีน
- JMHLW-2000 จากประเทศญี่ปุ่น
- ISO 22609 ที่มาตรฐานของสหภาพยุโรป ฯลฯ
ซึ่งบ่งบอกว่าหน้ากากอนามัยดังกล่าวช่วยปกป้องการแพร่กระจายเชื้อโรคจากตัวเองไปยังผู้อื่น และป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย
(4) สามารถตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์ได้
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดทำรายชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไว้บนเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบเพื่อความมั่นใจก่อนเลือกซื้อ
โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้วคลิก “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์" จากนั้นพิมพ์ชื่อผลิตภัณฑ์ที่ต้องการค้นหาข้อมูล
ค้นหาหน้ากากอนามัยที่ได้รับอนุญาตจาก อย.
หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัสได้ ต้องระบุค่า VFE จริงหรือไม่
หลายคนอาจเคยเห็นข้อมูลที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ว่า หากสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ระบุ VFE เท่ากับป้องกันไวรัสไม่ได้ สำหรับเรื่องดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมชี้แจงว่า แม้บนบรรจุภัณฑ์ของหน้ากากอนามัยไม่ได้ระบุข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสในรูปแบบ VFE แต่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. ยังคงมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสที่มาพร้อมละอองต่าง ๆ จากสารคัดหลั่งได้เช่นเดียวกัน
หน้ากากอนามัยสวมแบบไหน ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้
- ล้างมือทั้งก่อนและหลังสวมใส่หน้ากากอนามัย
- ปรับหน้ากากอนามัยให้ปิดปาก จมูก และคางพอดี ไม่มีช่องว่างด้านข้าง
- ขณะสวมหน้ากากอนามัยไม่ควรดึงหน้ากากลงมาไว้ใต้จมูก คาง หรือสวมไว้บนศีรษะ หน้ากากที่ปิดปากและจมูกถึงป้องกันเชื้อโรคได้เต็มที่
- ไม่สวมหน้ากากอนามัยซ้ำ ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมงหรือทุกวัน และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น
นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปในพื้นที่ชุมชน ฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิต อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการทำประกันภัยโควิดติดไว้ เพราะถ้าเจ็บป่วยด้วยเชื้อไวรัส COVID-19 บริษัทประกันเข้ามาช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน ค่าชดเชยรายได้ระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไปจนถึงกรณีเป็นผู้ป่วยโคม่า โดยฮักส์ยินดีให้คำปรึกษาการเลือกประกันภัยโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคุณ สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง Facebook Line หรือ โทร 0 2975 5855
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย